กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ บริการฝังรากฟันเทียมฟรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสจำนวน 8,400 ราย ระหว่างพ.ศ. 2555-2557 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบวันที่ 5 ธันวาคม 2554 

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายปลอดประสพ  สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) นายพรชัย  รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแพทย์หญิงวิลาวัณย์   จึงประเสริฐ   อธิบดีกรมการแพทย์ และศาสตราจารย์พิเศษทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา  เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมเปิดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และมอบนโยบายในการปฏิบัติงานให้แก่หน่วยบริการฝังรากฟันเทียม
 
นายวิทยากล่าวว่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม 2554  กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ให้บริการฝังรากฟันเทียมฟรี ให้แก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ที่มีปัญหาหลังใส่ฟันเทียมทั้งปากแต่ยังใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้ดี จำนวน  8,400 รายฟรี ดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2555-2557  โดยในปี 2555 มีเป้าหมาย  2,000 ราย  ปี 2556 จำนวน 2,800 ราย และปี 2557 จำนวน 3,600 ราย  เป็นการต่อยอดโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550  ซึ่งบรรลุเป้าหมายจำนวนกว่า 10,000 ราย ตั้งแต่พ.ศ. 2550-2554ผู้ที่ได้รับการฝังรากฟันเทียมมีความพึงพอใจ สามารถใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารได้ดี   ทั้งนี้ การฝังรากฟันเทียมตามปกติจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ราคาประมาณ 50,000-100,000 บาท เนื่องจากต้องนำเข้ารากฟันเทียมจากต่างประเทศ ทำให้ประชาชนไทยจำนวนมากที่มีปัญหา เข้าไม่ถึงบริการนี้  
 
ด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในโครงการนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯดำเนินการผลิตรากฟันเทียม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานนามรากฟันเทียมฯ ว่า ข้าวอร่อยเนื่องจากรากฟันเทียมจะทำให้ผู้ที่สวมใส่ฟันเทียมบดเคี้ยวอาหารได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม  ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการให้บริการฝังรากฟันเทียม อบรมทันตบุคลากรเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการให้บริการ  รวมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝังรากฟันเทียมให้แก่หน่วยบริการต่างๆ ซึ่งมี 126 แห่ง อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คณะทันต-แพทยศาสตร์  กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย  โดยทันตแพทย์จะผ่าตัดฝังรากฟันที่บริเวณขากรรไกรล่างทั้ง 2ข้าง เพื่อเป็นตัวยึดฟันเทียมทั้งปากไว้ไม่ให้ขยับไปมาเวลาเคี้ยวอาหาร                                          
 
ประชาชนที่ต้องการฝังรากฟันเทียมดังกล่าว สามารถลงทะเบียนที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยต้องเป็นผู้ที่ไม่มีฟันจริงเหลืออยู่เลย และใส่ฟันเทียมทั้งปากอยู่แล้ว หรือมีฟันเหลืออยู่ไม่กี่ซี่ มีสุขภาพแข็งแรง หากมีโรคประจำตัวต้องควบคุมได้ดี ไม่เคยฉายรังสีรักษามะเร็งบริเวณศีรษะและคอ และสามารถมาตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย 6 – 7 ครั้งได้
 *** 2 กรกฎาคม 2555
 


   
   


View 13    03/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ