รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยความคืบหน้างบเงินกู้ดีพีแอลกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 3,425 ล้านบาท เสนอเข้าครม.พรุ่งนี้ ในกลุ่มเร่งด่วนคือเครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉิน เช่นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ วงเงิน 2,049 ล้านบาทเศษ โดยรัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญและขยายเวลาให้ใช้ได้จนถึงปี 2556
วันนี้ (2 กรกฎาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้างบเงินกู้ดีพีแอลของกระทรวงสาธารณสุขว่า หลังจากที่กระรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองทบทวนโครงการงบเงินกู้ดีพีแอลตามความจำเป็นเร่งด่วนตามมติคณะรัฐมนตรี และผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้มีท่านรองนายกรัฐมนตรี กิตติรัตน์ เป็นประธาน และจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (3 กรกฎาคม 2555)
ทั้งนี้ วงเงินกู้ดีพีแอลเดิมมี 4 กลุ่ม วงเงินประมาณ 3,426 ล้านบาท ตามระดับบริการ ประกอบด้วย 1.โครงการพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิ 2.โครงการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิ 3.โครงการพัฒนาระบบบริการตติยภูมิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง และเครือข่ายการบาดเจ็บแห่งชาติ และ4.โครงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน โดยเมื่อคณะกรรมการทบทวนแล้ว ได้จัดเหลือ 3 กลุ่มตามระบบบริการต่อผู้ป่วย ประกอบด้วย 1.ครุภัณฑ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนใช้กับผู้ป่วยโดยตรง เกี่ยวข้องกับการช่วยชีวิตฉุกเฉิน การตรวจรักษาและการวินิจฉัยโรค เช่นเครื่องช่วยหายใจ เครื่องดมยาสลบ เป็นต้น วงเงิน 2,049 ล้านบาทเศษ 2.ครุภัณฑ์สนับสนุนการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องล้างเครื่องมือ เป็นต้น วงเงิน 615 ล้านบาทเศษ และ3.เครื่องมือช่วยสนับสนุนกระบวนการบริการให้กับผู้ป่วย เช่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เป็นต้น วงเงิน 761 ล้านบาทเศษ รวมทั้งสิ้น 3,425 ล้านบาท วงเงินที่ลดไปประมาณ 1 ล้านบาท
นายวิทยากล่าวต่อว่า ขอเรียนว่า คณะกรรมการกลั่นกรองรายการครุภัณฑ์ตามโครงการเงินกู้ดีพีแอล ได้จัดลำดับความสำคัญในกลุ่ม 1 เป็นลำดับแรกก่อน ส่วนครุภัณฑ์ในกลุ่มที่เหลืออีก 2 กลุ่มก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน และขอสนับสนุนงบประมาณในลำดับต่อไป ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับโครงการงบเงินกู้ดีพีแอล แต่ต้องการตรวจสอบรายละเอียดและความจำเป็น อย่างไรก็ดี โครงการเงินกู้ดังกล่าว เป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาล ในเบื้องต้นรัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี ได้ขยายเวลาให้ใช้ได้ถึงปี 2556
“การดำเนินการต้องเป็นไปตามมติความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจ แต่ไม่มีสิทธ์ในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะมีการตรวจสอบรายละเอียดตามข้อสังเกตตามที่แพทย์ชนบทมีความห่วงใย ทั้งในเรื่องการต่อรองราคา ซึ่งบางรายดำเนินการได้ บางรายยืนยันราคาเดิม เนื่องจากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างไปก่อนหน้าที่จะมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งทางเราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางบริษัทที่มาประมูลจัดซื้อจัดจ้างในอดีต เรื่องที่สองเมื่อได้ผู้ประกอบการแล้ว ก็ต้องมีการเสนอเข้าไปเพื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ” นายวิทยากล่าว
**************************** 2 กรกฎาคม 2555