ผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11 ประสบผลสำเร็จ พร้อมจับมือพัฒนาสุขภาพประชากรอาเซียน 4 เรื่อง อาทิ การสร้างหลักประกันสุขภาพ การขจัดปัญหาโรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของอาเซียนร้อยละ 60 ส่วนเลขาธิการอาเซียนย้ำการทำเขตการค้าเสรีจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสุขภาพทั้งเหล้า บุหรี่ อาหาร เย็นวันนี้ ( 5 กรกฎาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน แพทย์หญิงไท คิม เตียน เหงียน (Dr.Thi Kim Tien Nguyen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเวียดนามและนายกัน คิม ยอง (Mr.Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดประชุมที่จังหวัดภูเก็ต วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 นายวิทยากล่าวว่า การประชุมในช่วงเช้า ได้หารือปัญหาสุขภาพอย่างไม่เป็นทางการ และช่วงบ่ายเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพหลักและพัฒนาระบบริการสาธารณสุขของประเทศอาเซียน วาระการประชุมวันนี้ มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เพื่อลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อน 2.การควบคุมบุหรี่ – สุรา โดยเฉพาะมาตรการเรื่องภาษี ข้อตกลงการค้าเสรี การห้ามทำ CSR ของบริษัทบุหรี่/สุรา และการควบคุมบุหรี่เถื่อน 3.การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 4. การลดปัญหาโรคเอดส์ และ 5. ความร่วมมือการสร้างเครือข่ายการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่ม นายวิทยา กล่าวต่อว่าผลการประชุม ประสบผลสำเร็จอย่างดี รัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน 10 ประเทศ ต่างเล็งเห็นปัญหาสุขภาพ และจะมีความร่วมมือ เพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในอาเซียนอย่างจริงจัง ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การประชุมผู้นำสูงสุดของประเทศ ได้แก่ ในเวทีอาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) และสมัชชาสหประชาชาติ การจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอาเซียนบวก 3 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี โดยไทยรับเป็นประเทศหลัก 2. การร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามข้อตกลงสหประชาชาติเรื่องโรคไม่ติดต่อ ภายใต้ตัวชี้วัดและเป้าหมายที่กำหนดจากองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ มุ่งเน้นทั้งมาตรการที่ดำเนินการเฉพาะบุคคล ครอบครัวและมาตรการที่มีผลทางสังคมที่กำหนดพฤติกรรมสุขภาพ รวมทั้งตกลงให้มีเครือข่ายการควบคุมการบริโภคสุราในอาเซียน 3. การร่วมมือกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการบรรลุข้อตกลงด้านการควบคุมโรคเอดส์ให้เข้าสู่การเป็นศูนย์ หรือ Triple Zero targets คือ ไม่มีการกีดกันผู้ติดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีคนตายจากโรคเอดส์ 4.การร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการจัดการปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งโรคที่สำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียดื้อยา โดยเน้นการรณรงค์กำจัดรากของปัญหา การจัดหาและการใช้ยา รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายนักระบาดวิทยาในอาเซียน ที่ไทยเป็นหลักด้วย นายวิทยายังกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพหลังจากที่เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและการเมือง ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้ประชากรในภูมิภาค สินค้าต่าง ๆ และทุน จะเดินทางเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ ได้อย่างเสรี กระทรวงสาธารณสุขแต่ละประเทศ จะต้องร่วมมือกันสร้างระบบสุขภาพที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดทั้งของประเทศตัวเองและในอาเซียน การรวมพลังกันจะแก้ปัญหาได้อย่างทันที แทนที่จะต่างคนต่างทำ ทางด้านดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า การสร้างประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดความร่ำรวย ซึ่งจะทำให้เกิดโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่าโรคจากวิถีชีวิตเปลี่ยนหรือโรคไม่ติดต่อ ซึ่งมี 4 โรคได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดและเบาหวาน โดยในอาเซียนมีรายงานเสียชีวิตจากทุกโรคปีละ 4 ล้านคน โดย 2.5 ล้านคนหรือ ประมาณร้อยละ 60 ของการเสียชีวิตทั้งหมดเป็นจากโรคไม่ติดต่อ สาเหตุเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย การดื่มสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย การสูบบุหรี่ อาเซียนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากการบูรณาการเศรษฐกิจเข้าหากันแต่ละประเทศจะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ฉะนั้นในการทำตลาดการค้าเสรี จะต้องเป็นการค้าเสรีที่ปลอดภัยด้วย ทั้งเหล้า บุหรี่ อาหาร ************************************* 5 กรกฎาคม 2555


   
   


View 14    05/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ