รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย “โครงการไข่แลกยาเก่า” ของกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าฉลุย ประชาชนนำยามาคืนที่สถานบริการทั่วประเทศกว่า 36 ล้านเม็ด ยาเบาหวาน ลดความดัน และลดไขมันครองแชมป์ มูลค่าขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท เตรียมเผาทิ้งทั้งหมดกลางเดือนนี้ และเตรียมขยายผลในพื้นที่กทม. กำหนดจุดแลก 3 จุด ที่โรงพยาบาล สถานีรถไฟฟ้า และศูนย์การค้า ในช่วง 23-26 ก.ค. และยืนยันไม่มีการนำยาเก่าของคนอื่นหรือยามือสองมาใช้กับผู้ป่วยอย่างแน่นอน
วันนี้ (9 กรกฎาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขประจำเดือนกรกฎาคม 2555 เพื่อติดตามความก้าวหน้าของนโยบายโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ ว่า ในที่ประชุมได้รับทราบรายงานความคืบหน้าของโครงการไข่แลกยาเก่า ยาหมดอายุ ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดรณรงค์วันที่ 2-6กรกฎาคม 2555ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อต้องการให้ประชาชนตระหนักในการใช้ยาว่า ได้รับการตอบรับจากประชาชนเกินความคาดหมาย ได้รับยาเก่าคืนทั้งหมด 36,710,591 เม็ด โดยยาที่ได้รับคืนมากอันดับ 1 ได้แก่ ยาเบาหวาน 7,398,504 เม็ด รองลงมาคือยาโรคความดันโลหิตสูง 6,863,677 เม็ด และยาลดไขมันในเลือด 2,820,725เม็ด รวมแล้วมีจำนวนมากกว่าครึ่ง มูลค่าขั้นต่ำเฉพาะยา 3 ตัวนี้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ที่เหลืออีก 17 ล้านกว่าเม็ดหรือร้อยละ 46 เป็นยาอื่นๆ เช่นยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ ยารักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ ซึ่งยาดังกล่าวจะรวบรวมนำไปเผาทำลายทิ้งที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 13 กรกฏาคมนี้
นายวิทยากล่าวต่อว่า หลังจากที่โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จในต่างจังหวัดแล้ว มีนโยบายขยายผลดำเนินการเช่นเดียวกันในพื้นที่กทม.ซึ่งเป็นสังคมเมืองใหญ่ และได้รับการสอบถามจากประชาชนกทม.จำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขวางแผนจะดำเนินการในช่วงวันที่ 23 - 26 กรกฎาคม 2555 โดยยาที่จะนำไปแลกคืนนั้น จะรับเฉพาะยาแผนปัจจุบันที่ไม่ได้ใช้แล้ว ทั้งยาเก่าที่หมดอายุและยังไม่หมดอายุ ทั้งยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล คลินิก หรือซื้อมาเอง ในเบื้องต้นกำหนดจุดรับยาแลกไว้3 จุดใหญ่ คือ 1.ที่โรงพยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข 9 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เลิดสิน สถาบันประสาทวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ รพ.ราชานุกูล รพ.สมเด็จเจ้าพระยา และรพ.สงฆ์ 2.ที่ศูนย์การค้าต่างๆ และ3.ที่สถานีรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดและประกาศให้ประชาชนรับทราบต่อไป และผลของโครงการนี้อาจจะต้องมีการพัฒนาระบบการแพ็คกิ้งยาเม็ดใหม่ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพ เช่นบรรจุในฟรอยด์ เป็นต้น
ทางด้านนายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยาที่ได้รับคืนทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขจะทำลายทิ้ง ไม่นำยามือสองไปให้คนป่วยอื่นใช้อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลอย่างแน่นอน ยกเว้นว่าเป็นยาที่ผู้ป่วยรายนั้นๆใช้อยู่แล้วและต้องกินต่อ โดยเฉพาะยารักษาโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่ายาที่ได้รับคืนครั้งนี้ เป็นยารักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและยาลดไขมันในเลือด ซึ่ง 3โรคนี้ เป็นโรคที่คนไทยป่วยมาก และการที่ผู้ป่วยกินยาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้การรักษาของแพทย์ไม่ได้ผล และเกิดการใช้ยาสิ้นเปลือง ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังทุกชนิดเมื่อต้องไปพบแพทย์ตามนัด ขอให้พกยาเก่าที่แพทย์จ่ายในรอบก่อนนำไปให้แพทย์ดูเพื่อที่จะจ่ายยาให้พอดีกับความต้องการใช้
********************************** 9 กรกฎาคม 2555