ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคมือเท้าปากของไทยขณะนี้ยังไม่น่าวิตก เชื้อที่พบเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง เพื่อปกป้องความปลอดภัยเด็กเล็ก สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังควบคุมป้องกัน และให้การรักษาตามมาตรฐานเต็มพิกัด ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ให้ครู พี่เลี้ยงเด็กศูนย์เด็กเล็ก วัดไข้ ดูตุ่มพองตามมือเท้าและปากของเด็กทุกเช้า และดูแลความสะอาดสถานที่ ของเล่น ของใช้เด็กให้สะอาด ล้างมือฟอกสบู่หลังสัมผัสสิ่งของ หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง ชี้เป็นผลดี จะขจัดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 80 

จากสถานการณ์พบเด็กกัมพูชาป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากประมาณ 64 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายน2555เป็นต้นมา โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นชนิดรุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้นั้น 
 
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ ( 10 กรกฎาคม 2555 ) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากการประเมินสถานการณ์ของโรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth)ในประเทศไทยขณะนี้พบว่ายังไม่น่าวิตก และโรคนี้เป็น 1 ใน 57 โรคที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี ในรอบ  6 เดือนปีนี้พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากประปรายกระจายหลายจังหวัด ยังไม่พบการระบาดของโรคเป็นกลุ่ม โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 1 กรกฎาคม 2555 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วย 10,813 ราย ร้อยละ 72 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต
 
จากการตรวจสอบเชื้อของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเกิดจากเชื้อ  2 ชนิด คือ คอกซากี เอ 16 (Coxsackie A 16)และเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และที่พบในไทยเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ในเด็กที่เสียชีวิตในกัมพูชาพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญด้านประเทศเวียดนาม และพบส่วนน้อยประมาณ  5 รายอยู่ที่เสียมเรียบ จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กไม่ต้องตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลมากเกินไป กระทรวงสาธารณสุขจะติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี และองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง
 
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ปีนี้ฝนตกชุกมาก อากาศเย็นและชื้น แนวโน้มอาจทำให้พบผู้ป่วยโรคนี้มาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในทุกจังหวัดอยู่แล้ว แต่ขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยในหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น วันนี้ได้ทำหนังสือสั่งการด่วน กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และประสานกับกทม. เฝ้าระวังโรคนี้อย่างต่อเนื่อง หากมีผู้ป่วยให้ทำการควบคุมป้องกันโรคโดยเร็วที่สุด และกำชับทีมแพทย์โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะกุมารแพทย์ให้ตรวจโรคอย่างละเอียดตามมาตรฐานการรักษา เพราะโรคนี้หากตรวจพบและรักษาได้เร็วจะลดความรุนแรงได้
 
นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในพื้นที่ ขอให้ดูแลความสะอาดของสถานที่ ของเล่น ของใช้เด็กให้สะอาด ล้างมือฟอกสบู่หลังสัมผัสสิ่งของ หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยขจัดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 80โดยเชื้อโรคมือเท้าปากจะอยู่ในอุจจาระของเด็กที่ป่วยได้นานถึง 6 สัปดาห์ และติดมากับมือ ปนเปื้อนในอาหาร น้ำ หรือของเล่น และขอให้ตรวจวัดไข้ ดูตุ่มพองตามมือ เท้า หรือในปากของเด็กทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีไข้สูงอย่างน้อย 2 วัน หรือไข้สูงร่วมกับมีแผลในปาก หรือมีแผลที่มือ เท้า หรือเด็กมีอาการซึม หอบเหนื่อยหรือดูแล้วเด็กมีอาการแย่ลง  จึงแจ้งผู้ปกครองให้พาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดอยู่บ้านจนกว่าจะหาย และขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้ติดไปยังเด็กคนอื่นๆ  
 
สำหรับผู้ปกครอง ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานศึกษาที่พบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ขอให้ทำความสะอาดพื้นผิวที่เด็กสัมผัส เช่น พื้นอาคาร ผนัง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของน้ำยาฟอกผ้าขาวอย่างถูกวิธี ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ขอให้ล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกตามปกติแล้วผึ่งแดด ก็จะสามารถฆ่าเชื้อได้ และขอให้กำจัดอุจจาระเด็กที่ป่วยอย่างถูกวิธี โดยเทลงส้วม หรือกรณีใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปขอให้ใส่ลงในถุงพลาสติกและมัดปากก่อนทิ้งลงถังขยะ ดูแลเรื่องอาหารให้สะอาด และล้างมือให้บ่อยขึ้น
 
************************** 10 กรกฎาคม 2555


   
   


View 12    10/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ