มติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ร่วมจ่าย 30 บาทในการเข้ารับบริการ เริ่ม 1 กันยายน นี้ เริ่มเก็บตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป กลุ่มเป้าหมายที่ต้องร่วมจ่าย  คือประชาชนที่ไปรักษาพยาบาลและได้รับยาซึ่งมีประมาณ 23-24 ล้านคน  ยกเว้นกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข  ส่วนบุคคลอื่นๆให้อยู่ในดุลยพินิจของรพ.เป็นครั้งๆไป  

วันนี้( 10 กรกฎาคม 2555 ) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช.  นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการดำเนินงานตามนโยบายการร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาทต่อครั้งบริการของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  โดยมีมติให้ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป  แต่วันที่ 1 กันยายน  2555 นี้เป็นต้นไป   
นายวิทยากล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องร่วมจ่าย 30 บาท คือ ผู้รับบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับบริการรักษาพยาบาลและได้รับยากลับบ้าน  ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 50 หรือประมาณ 23-24 ล้านคน ยกเว้นในกลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประมาณร้อยละ 50  และกลุ่มที่จะมีการประกาศเพิ่มเติมต่อไป   ส่วนผู้รับบริการเฉพาะรายอื่น ๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของหน่วยบริการเฉพาะราย ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ ที่มีนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน 
นายวิทยากล่าวต่อว่า การร่วมจ่ายไม่ได้บังคับ แต่เป็นศักดิ์ศรีของผู้รับบริการ   ที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุง เพิ่มสิทธิประโยชน์และคุณภาพบริการที่ประชาชนจะได้รับเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย 30 บาท เช่นการเปลี่ยนหน่วยบริการกรณีย้ายภูมิลำเนา จากเดิมเปลี่ยนได้ปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้ง  โดยใช้บัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้นและใช้ได้ภายใน 15 วัน   กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เร่งด่วน สามารถเข้ารับบริการได้ทุกที่ โดยไม่ถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายเงินก่อน
 กรณีเจ็บป่วยรุนแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง ประชาชนได้รับการดูแลที่ได้มาตรฐานในทุกระบบหลักประกันในหน่วยบริการทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลชุมชนขึ้นไปอีกทั้งจะเพิ่มบริการในช่วงบ่ายและไม่หยุดช่วงเที่ยงเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลทุกระดับผู้ป่วยสูงอายุจะได้รับบริการโดยไม่ต้องรอคิว ประชาชนจะได้รับการคัดกรองเพื่อค้นหาความเสี่ยงเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ  เมื่อไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิจะได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ หากมีความจำเป็นต้องพบแพทย์   จะได้รับการปรึกษาผ่านระบบการรักษาพยาบาลทางไกล ( telemedicine)  โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  
นายวิทยากล่าวต่ออีกว่า ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อมหน่วยบริการและเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงเที่ยงและบ่าย พัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลทางไกลให้ครบถ้วนทุกพื้นที่ในปีหน้า   และเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนดำเนินการ ขณะเดียวกันขอปรับระบบค่าตอบแทน ซึ่งต้องมีการจ่ายเพิ่มเติมกรณีจัดบริการในตอนเที่ยงวัน คาดว่าจะใช้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 900 ล้านบาท ส่วน สปสช.นั้นให้เตรียมความพร้อมการให้ความสะดวกกับประชาชนในการเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยบริการประจำ และติดตามผลทุก 3 เดือนเพื่อรายงานคณะกรรมการต่อไป   ในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะจัดเก็บ 30 บาท เมื่อมีบริการการรักษาครอบคลุม                                        
 ************ 10 กรกฎาคม 2555


   
   


View 11    10/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ