รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงที่เริ่มพบผู้ป่วย และกลุ่มเด็กที่อยู่ตามแนวชายแดน ชี้โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ จนถึงขณะนี้ยังไม่พบเด็กตามแนวชายแดนป่วยเป็นโรคนี้ และตั้งทีมแพทย์เชี่ยวชาญ 1 ชุดเป็นที่ปรึกษาแพทย์ในภูมิภาค ตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนช่วยกันป้องกัน โดยการรักษาความสะอาดสถานที่ ของเล่น ล้างมือ กินอาหารสุกสะอาด กำจัดอุจจาระลงส้วม และสุขอนามัยเด็ก ส่วนสถานการณ์อาหารเป็นพิษจากไข่ต้มบริจาคที่จ.เชียงใหม่ พบเด็กป่วยทั้งหมด 501 ราย ยังนอนรพ. 127 ราย ทุกรายปลอดภัย

          บ่ายวันนี้ (11 กรกฎาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี   นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์  วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ใน 7 จังหวัดที่อยู่ติดชายแดนไทยกัมพูชา เพื่อติดตามสถานการณ์และมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือเท้าปากหลังจากที่มีรายงานพบเด็กกัมพูชาป่วยและเสียชีวิตจำนวน 52 ราย จากที่ป่วยทั้งหมด 59 ราย หรืออัตราป่วยตายร้อยละ 88  และจังหวัดเชียงใหม่ติดตามสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากไข่ต้ม  ในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จ.เชียงใหม่   

          นายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่อยู่ติดชายแดนไทยกัมพูชา 7 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์  สุรินทร์ สระแก้ว ศรีษะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี และตราด ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากประปรายในเขตอำเภอชั้นใน ได้ให้เฝ้าระวังในกลุ่มเด็กที่อยู่ตามแนวชายแดนซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจติดเชื้อได้ โดยหากพบมีเด็ก โดยเฉพาะเด็กกัมพูชาป่วยโรคนี้ จะแนะนำให้พ่อแม่พากลับไปรักษาตัวที่บ้านในกัมพูชาก่อน หากจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลได้จัดเตรียมห้องแยกไว้ดูแลเป็นการเฉพาะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไทยและกัมพูชามีความร่วมมือกันใกล้ชิดอยู่แล้ว และระบบการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยง คือเริ่มพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก ให้เข้มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง เช่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้ตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคนี้ทุกวัน และทำหนังสือแจ้งไปยังสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไข้ รวมทั้งได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเขตพื้นที่การศึกษา ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้ เฝ้าระวังเด็กที่มีไข้ และทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ด้วย จนถึงขณะนี้ ได้รับรายงานว่ายังไม่พบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากตามแนวชายแดนแต่อย่างใด 

นายวิทยากล่าวต่อว่า โรคมือเท้าปากไม่ใช่โรคใหม่ ประชาชนไม่ต้องวิตก สายพันธุ์ที่พบในไทยแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสก็ตามแต่ไม่รุนแรงเท่า อัตราป่วยตายในปี 2554 เพียงร้อยละ 0.032 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการรักษา โดยโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้ และในส่วนกลางได้มอบให้กรมการแพทย์จัดทีมผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเด็ก รวมทั้งโรคมือเท้าปาก เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ในต่างจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ อย่างไรก็ตามขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ดูแลรักษาความสะอาด โดยล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร ทานอาหาร และหลังขับถ่าย ทานอาหารปรุงสุกสะอาด ล้างของเล่นและล้างมือให้บุตรหลานบ่อยๆ หากเด็กเป็นไข้ในช่วงนี้ 3 วันแล้วไข้ยังไม่ลด หรือเด็กซึมลงขอให้สงสัยว่าอาจติดเชื้อโรคนี้หรือโรคอื่นๆ เช่นไข้เลือดออก และรีบพาไปพบแพทย์ทันที

  สำหรับสถานการณ์อาหารเป็นพิษหลังจากกินไข่ต้มบริจาค 10,000 ฟอง ในเด็กนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่  9 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา  ล่าสุดนี้ได้รับรายงานจากนายแพทย์วัฒนา  กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีเด็กป่วยทั้งหมด 501 ราย โดยเป็นนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 500 รายจากเด็กทั้งโรงเรียน 830 คน และโรงเรียนสอนคนตาบอดอีก 1 ราย ขณะนี้ยังมีเด็กที่นอนรักษาตัวต่อในโรงพยาบาล 9 แห่ง รวม 127 ราย ประกอบด้วย รพ.สวนดอก รพ.นครพิงค์  รพ.หางดง  รพ.สันทราย รพ.ดอยสะเก็ด รพ.สันกำแพง รพ.ดารารัศมี รพ.แม่แตง และรพ.ค่ายกาวิละ ทุกรายปลอดภัย ไม่มีรายใดอาการหนัก แต่ยังมีปัญหาอ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายเหลวและอาเจียนมาก แพทย์ให้พักต่อจนกว่าจะปลอดภัย  โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตั้งหน่วยปฐมพยาบาลชั่วคราวที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ระดมแพทย์ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งจะประจำการจนกว่าไม่พบผู้ป่วย และร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาปรับปรุงสุขาภิบาลน้ำและอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดซ้ำ และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังกลุ่มที่ได้รับบริจาคไข่ต้มใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง แม่ริม และแม่แตง เช่นที่บ้านพักคนชรา  บ้านพักคนไร้ที่พึ่งพิง  หมู่บ้านต่างๆ เป็นเวลา 3 วัน หรือจนกว่าไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 

     นายวิทยากล่าวต่อว่า เหตุที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนประชาสงเคราะห์ครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องการดำเนินงานอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะการรับประทานอาหารกล่อง อาหารปรุงสำเร็จที่มีการเตรียมไว้เป็นจำนวนมาก และโรงเรียนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงใหญ่ เนื่องจากมีนักเรียนจำนวนมาก มีกิจกรรมบ่อย รวมทั้งกลุ่มทัศนาจร ที่มักจะสั่งอาหารพร้อมกันครั้งละมากๆ กระทรวงสาธารณสุข จะให้กรมอนามัยจัดทำคู่มือมาตรฐานอาหารกล่องอาหารปรุงสำเร็จแจกผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอยขายอาหารทั่วประเทศ ประกอบด้วย ชนิดอาหารที่บูดช้า วิธีการบรรจุ วิธีการจัดเก็บ และให้ติดระยะเวลาในการบริโภค ไว้ที่ถุงหรือกล่องบรรจุใหญ่  ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความปลอดภัยมากขึ้น

******************************* 11 กรกฎาคม 2555



   
   


View 12    11/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ