รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เผยมีคนไทยป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียสะสมต้องรักษาตลอดชีวิตทั่วประเทศรวม 630,000 ราย พบรายใหม่เพิ่มปีละ 12,000 ราย  และมียีนแฝงพร้อมถ่ายทอดให้ลูกมากถึง 25 ล้านคน เร่งรณรงค์ให้คู่สมรสตรวจเลือดก่อนตั้งครรภ์  ตั้งเป้าจะลดผู้ป่วยรายใหม่ลงให้ได้ร้อยละ 50 หรือให้เหลือไม่เกินปีละ 6,000 ราย คาดลดค่าใช้จ่ายรักษาลงได้ไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท

          วันนี้ (11 กรกฎาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาวิชาการธาลัสซีเมียแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ประจำปี 2555 ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ปีประมาณละ 12,000 ราย และมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 630,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั้งประเทศ โดยบุคคลเหล่านี้จะต้องรับการรักษาตลอดชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคนไทยที่เป็นพาหะคือมียีนโรคธาลัสซีเมีย แฝงอยู่ พร้อมจะถ่ายทอดไปสู่ลูกประมาณ 25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คำปรึกษา หากจะแต่งงานจะต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ และหากคู่สมรสเป็นพาหะของโรคเช่นเดียวกัน จะต้องได้รับคำแนะนำพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการตั้งครรภ์ จะต้องได้รับการตรวจถึงทารกในครรภ์ ว่ามียีนที่จะทำให้เป็นโรคธาลัสซีเมียหรือเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย หรือถ้าเป็นธาลัสซีเมียจะอยู่ในขั้นรุนแรงหรือไม่ จะช่วยให้การวางแผนรักษา หรือการบริหารจัดการในเรื่องของการตั้งครรภ์ว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

          นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยธาลัสซีเมียรายใหม่ลงให้ได้ประมาณร้อยละ 50 จากประมาณปีละ 12,000 ราย จะให้เหลือประมาณปีละ 6,000 ราย โดยให้บริการตรวจคัดกรองตั้งแต่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือรพ.สต. โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ศูนย์อนามัย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการตรวจ และกระจายไปทั่วประเทศ ถือว่าเป็นความร่วมมือจากองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระทรวงสาธารณสุข มีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมการแพทย์ และที่สำคัญคือมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นองค์กรหลักในการวางแผนที่จะควบคุมหรือลดจำนวนผู้ที่จะป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย

          ทั้งนี้ ในการตรวจโรคธาลัสซีเมีย กระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการลดค่าใช้จ่ายการรักษา หากเราสามารถลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรายใหม่ให้เหลือปีละ 6,000 ราย จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยได้มากถึง 32,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว

**************************************** 11 กรกฎาคม 2555

 



   
   


View 18    11/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ