รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย พบผู้ป่วยประปราย ไม่ถือว่าเป็นการระบาด และเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ไม่รุนแรง ยอดสะสมรอบ 6 เดือนปีนี้ แม้พบเด็กป่วยกว่า 10,000 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต แนะวิธีป้องกันเน้นความสะอาด และล้างมือบ่อยๆ

วันนี้ (12 กรกฎาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมที่โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ ว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากที่ขณะนี้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศกัมพูชา มีรายงานเด็กเสียชีวิตแล้ว 50 กว่าราย จากการติดตามพบว่าเป็นเชื้อโรคที่ชื่อ เอ็นเทอร์โรไวรัส 71 และทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน คือ สมองอักเสบ ปอดอักเสบ ที่รุนแรงคือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้
          นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทยในปี 2551 พบประปรายเสียชีวิต 2 ราย ปี 2552 เสียชีวิต 4 ราย ปี 2553 ไม่พบผู้เสียชีวิต ปี 2554 เสียชีวิต 6 ราย ส่วนในปีนี้พบผู้ป่วยประปรายแต่ไม่ถึงกับเกิดการระบาด พบ 10,000 กว่ารายซึ่งเป็นตัวเลขสะสมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่พบผู้เสียชีวิต เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคมือเท้าปากในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพวกคอกซากี สายพันธุ์เอ และสายพันธุ์บี (Coxsackie A, B)พวกนี้มักจะไม่รุนแรง มีอาการไข้สูง มีตุ่มขึ้นในปาก มีผื่นบริเวณมือและเท้า อาจมีที่บริเวณก้นกบบ้างจะเป็นอยู่ประมาณ 3-5 วันก็จะหาย สำหรับที่จ.สุรินทร์ในปี 2555 ตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมา มีผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 40 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ในวันนี้มีผู้ป่วยรับไว้รักษาที่รพ.สุรินทร์ 2 ราย จากอ.กระสัง และอ.เมือง อาการไม่รุนแรง โดยแยกไว้ในห้องแยก
          นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ป้องกันได้ไม่ยาก ที่สำคัญคือเรื่องของความสะอาด และสุขลักษณะของเด็ก โดยดูแลให้บุตรหลาน เด็กเล็กล้างมือบ่อยๆ และดูแลความสะอาดของสถานที่ ของเล่นของเด็ก โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก หากพบเด็กป่วย 2-5 รายจะให้ปิดศูนย์เด็กเล็กชั่วคราว ในโรงเรียนห้องเรียนใดมีนักเรียนป่วย 2-5 คน จะให้ปิดห้องเรียนนั้น ถ้าชั้นเรียนใดมีป่วย 2-5 ห้องให้ปิดทั้งชั้นเรียน หากมีเด็กป่วยตั้งแต่ 5 ห้องขึ้นไปให้ปิดโรงเรียน เพื่อทำความสะอาดสถานที่ ข้าวของเครื่องใช้ เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อและควบคุมโรคไม่ให้ขยายวงออกไป เพราะโรคนี้ติดต่อกันทางการสัมผัส เชื้อจะอยู่ในอุจจาระ และบริเวณแผล
          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้ติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ทั้ง 7 จังหวัด เช่นที่ จ.สุรินทร์ เท่าที่ติดตามขณะนี้ รพ.ที่อยู่ใกล้เคียงอาจมีผู้ป่วยจากกัมพูชาเข้ามาตรวจรักษาบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก และมีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยได้ให้การดูแลรักษาอย่างเต็มที่ตามหลักมนุษยธรรมเช่นเดียวกับคนไทย และระบบการควบคุมป้องกันโรคของไทยเข้มแข็งอยู่แล้ว โดยหากพบผู้ป่วยในพื้นที่ใดจะส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคทันที เพื่อให้ความมั่นใจกับประชาชน ขอให้อย่าวิตกกังวลจนเกินไป นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
********************************** 12 กรกฎาคม 2555


   
   


View 13    12/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ