กระทรวงสาธารณสุข ตั้งมิสเตอร์เบาหวานทุกจังหวัด เพื่อเร่งควบคุมป้องกันโรคเบาหวานจริงจัง ลดความเสี่ยงโรคตามมาคือ โรคไตวาย ตาบอด เผยขณะนี้คนไทยกว่า 3 ล้านคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีคนเสี่ยงจ่อคิวป่วยเพิ่มอีก 6 ล้านคน ชี้ยังไม่มียาตัวใดในโลกที่รักษาแล้วหายขาด การปรับพฤติกรรมได้ผลที่สุด เช้าวันนี้ (23 เมษายน 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย แพทย์หญิงมยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์มาร์ติน ซิลิง (Prof. Martin Silink) ประธานสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณนายแพทย์สุนทร ตัณฑนันทน์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และ ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิงชนิกา ตู้จินดา อุปนายกสมาคมโรคต่อมไร้ท่อ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนานโยบายการป้องกันควบคุมปัญหาจากโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้คนอายุสั้นลง นายแพทย์มงคล ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลกรวมทั้งประเทศไทยที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากผลสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2547 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 7 ป่วยเป็นเบาหวานหรือ 3 ล้านกว่าคน ในขณะที่พ.ศ. 2534 พบคนไทยป่วยเป็นโรคนี้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น โดยสาเหตุของโรคเบาหวานในปัจจุบัน พบว่ากว่าร้อยละ 80 ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ แต่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่สมดุล เช่น กินมากแต่ออกกำลังกายน้อย กินอาหารรสหวานจัด เมื่อป่วยแล้วยังไม่มียาตัวไหนในโลกรักษาหายขาด ผู้ป่วยประเภทนี้หากได้รับการดูแลควบคุมอาการไม่ดีพอ จะเกิดอาการแทรกซ้อนตามมาอีกหลายโรค ที่สำคัญที่สุดได้แก่ โรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งโรคเบาหวานทำให้เกิดไตวายได้ถึงร้อยละ 60 และโรคตาบอดจากการที่หลอดเลือดที่จอประสาทตาเสื่อมลง ในการป้องกันควบคุมปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเน้นการป้องกัน 3 ประเด็น คือ 1.การป้องกันไม่ให้คนป่วยเพิ่ม โดยเร่งสกัดความอ้วนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ 2.การป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนในกลุ่มที่ป่วยแล้ว ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการรักษาจำนวนมาก และ 3.ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่ คนอ้วนและผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคเบาหวาน ต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อประเมินความผิดปกติ ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งมิสเตอร์เบาหวานทุกจังหวัด เพื่อเร่งรัดการควบคุมโรคเบาหวานในประเทศไทยอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับมิสเตอร์ไข้หวัดนกที่ปราบโรคไข้หวัดนกได้สำเร็จ เนื่องจากมีการสั่งการที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง จนสามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ ซึ่งประธานสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติเห็นด้วยและชื่นชมแนวคิดในการควบคุมของประเทศไทย ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีประชากรป่วยเป็นเบาหวานประมาณ 177 ล้านคน และแนวโน้มจะป่วยเพิ่มเป็น 300 ล้านคนในปี พ.ศ. 2568 พบมากในกลุ่มอายุ 44-65 ปี สำหรับไทย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2547 พบเพศชายเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 6 ในเพศหญิงร้อยละ 7 ในจำนวนนี้รู้ตัวว่าป่วยและรักษาเพียง 1 ล้าน 4 แสนคนหรือประมาณร้อยละ 44 และในจำนวนนี้รักษาแล้วได้ผลสามารถควบคุมอาการได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติเพียง 4 แสนคนเท่านั้น นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่ากว่าร้อยละ 80 เคยอ้วนมาก่อน โรคนี้ใช้เวลาก่อตัวค่อนข้างยาวนานหลายปี จากการสำรวจในปีเดียวกัน พบว่ายังมีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเบาหวาน เฉลี่ยร้อยละ 13 หรือประมาณ 6 ล้านคน แต่คนกลุ่มนี้เสี่ยงเป็นได้ทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ในผู้ชายพบร้อยละ 16 ผู้หญิงพบร้อยละ 11 โดยพบในผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครสูงที่สุดในประเทศ เฉลี่ยชายร้อยละ 17 หญิงร้อยละ 14 จะต้องเร่งควบคุมโดยปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เช่น เพิ่มการออกกำลังกายควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการกินอาหารรสหวาน ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า สามารถลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานลงได้ร้อยละ 58 นอกจากนี้ โรคอ้วนในเด็กและเยาวชน เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีรายงานทางการแพทย์พบว่า เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และพบวัยรุ่นที่อ้วนเมื่อเติบโตจะเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนร้อยละ 30 นอกจากนี้ภาวะอ้วนในเด็กทำให้เกิดผลกระทบ ตลอดจนโรคแทรกซ้อนที่มากมายร้ายแรงกว่าผู้อ้วนเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และจากการศึกษายังพบว่าร้อยละ 25 ของเด็กอ้วน นำไปสู่การเป็นเบาหวานได้ โดยในรอบ 20 ปีพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นเบาหวานจากความอ้วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าแล้ว ซึ่งจากการสำรวจเด็กไทยอายุ 12-18 ปีในปี 2544 พบเด็กอ้วนร้อยละ 8 โดยพบเด็กกรุงเทพฯมีความชุกอ้วนมากที่สุดร้อยละ 12 นายแพทย์ณรงค์กล่าว ************************** 23 เมษายน 2550


   
   


View 9    23/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ