รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ไทยยังไม่พบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์รุนแรงในกัมพูชา    และสายพันธุ์ที่พบในไทยยังไม่มีปัญหากลายพันธุ์    ชี้เหตุต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว เนื่องจากมีอัตราการเกิดโรคค่อนข้างสูง และเป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคที่ได้ผลดี ขอให้ผู้ปกครองทุกคนร่วมมือเพื่อขจัดเชื้อโรคมือเท้าปากให้หมดไป ล่าสุดนี้มีโรงเรียนปิดชั้วคราวเพื่อทำความสะอาดแล้ว 100 แห่ง      

บ่ายวันนี้(18 กรกฏาคม 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าสถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก ในประเทศไทยขณะนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้นำเรื่องนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคาร(17 กรกฎาคม 2555)ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะทำงานเชิงรุก เพื่อรองรับการเฝ้าระวัง ติดตามป้องกัน ควบคุมโรค มือ เท้า ปาก ในประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีอัตราการเกิดโรคค่อนข้างสูง จึงได้มีมาตรการว่า ถ้าโรงเรียนใดมีนักเรียนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก 2-5 คนในห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งสามารถให้ปิดห้องเรียนนั้นได้ หรือถ้าโรงเรียนใดมีนักเรียนป่วยมากกว่า 2-5 ห้องให้ปิดได้ทั้งโรงเรียน เพื่อทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ  เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและควบคุมโรคไม่ให้ขยายวงออกไป
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทยในปี 2551พบประปราย เสียชีวิต 2ราย ปี 2552เสียชีวิต 4ราย ปี 2553ไม่พบผู้เสียชีวิต ปี2554เสียชีวิต 6ราย ส่วนในปีนี้พบผู้ป่วยประปรายแต่ไม่ถึงกับเกิดการระบาด ตั้งแต่ต้นปีพบสะสม13,000กว่าราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิตเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นพวกคอกซากี สายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี (Coxsackie A, B) พวกนี้มักจะไม่รุนแรง มีอาการไข้สูงมีตุ่มขึ้นในปาก มีผื่นบริเวณมือและเท้า อาจมีที่บริเวณก้นกบบ้าง จะเป็นอยู่ประมาณ3-5วันก็จะหาย  สถานการณ์โรคดังกล่าวอาจจะพบผู้ป่วยได้ต่อไปอีก 1-2 เดือนเนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาด ส่วนเชื้อเอนทาโรไวรัส 71 ที่พบในประเทศกัมพูชาเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรง และขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย และเชื้อยังไม่มีปัญหากลายพันธุ์
          ในการควบคุมโรคในระดับจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอว่า ถ้าจังหวัดใดมีผู้ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากรายใหม่พร้อมกัน 10 รายในวันเดียวกัน ให้จังหวัดนั้นสามารถจัดตั้งศูนย์ปฎิบัติการพิเศษขึ้นได้เพื่อรณรงค์ป้องกันติดตามและดูแลเรื่องโรคมือเท้าปากในจังหวัดนั้นๆ โดยเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธาน เป็นศูนย์ปฎิบัติการในระดับจังหวัด เพื่อที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
          นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงเรียนที่ปิดโรงเรียนขณะนี้มีรายงานว่ามีประมาณ 100 แห่ง  การปิดบางแห่งไม่ใช่ว่าเกิดโรครุนแรงมาก แต่เป็นความระมัดระวังและให้ความสำคัญ เป็นการลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยอาจยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องปิดก็ได้ และบางโรงเรียนอาจปิดเพราะมีผู้ปกครองของเด็กนักเรียนเรียกร้อง โดยโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์ต้องปิดมีไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคของผู้บริหารโรงเรียน  และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือภายในโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่ยังไม่ปิดขอให้อยู่ในดุลยพินิจของทางโรงเรียนว่าจะดูแลลูกหลานของเราให้ปลอดภัยได้อย่างไร จึงขอความร่วมมือจากผู้ปกครองทุกคน  เพื่อช่วยกันทำให้เชื้อโรคมือเท้าปากหมดไป 
 ******************************************* 18 กรกฎาคม 2555


   
   


View 10    18/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ