วันนี้ ( 21 กรกฎาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมือเท้าปาก ว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ มีความเป็นห่วงประชาชน ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ทำความสะอาด สถานศึกษา หรือโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่พบเด็กนักเรียนป่วย 10 คนขึ้นไปจะมีกิจกรรมควบคุมป้องกันร่วมกัน และให้ความรู้ว่าเมื่อป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ให้รีบไปพบแพทย์ เนื่องจากว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรามีผู้ป่วยจำนวนมาก   จึงต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกัน รวมทั้งการดูแลความสะอาดของทุกๆสถานที่

 
นายวิทยา กล่าวว่า จากการที่มีประชาชนพาบุตรหลานไปพบแพทย์มากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่แสดงว่าประชาชนรับข่าวสารได้ดี และตระหนักถึงความปลอดภัยในการดูแลสุขภาพมากขึ้น เมื่อก่อนเมื่อเจ็บป่วยก็จะไม่ไปพบแพทย์ รักษากันเองซึ่งอาจอาจเป็นอันตราย และโอกาสที่จะเกิดการสูญเสียก็มีมากขึ้น ขอยืนยันว่าโรงพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ภาครัฐอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัย และเอกชน สามารถดูแลผู้ป่วยโรคมือเท้าปากได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขเน้นการประชาสัมพันธ์ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการสูญเสีย   จากการที่ประชาชนพาบุตรหลานไปหาหมอมาก บางครั้งอาจจะไม่ได้เป็นโรคมือเท้าปาก แต่เป็นไข้เลือดออก หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ก็ได้ ทำให้ดูแลลูกหลานได้ทันท่วงที ซึ่งตอนนี้ก็เป็นช่วงหน้าฝน เชื้อโรคต่างๆ ไม่เฉพาะเชื้อมือเท้าปากฟักตัวได้ดี ท่านนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วง ไม่อยากให้มีการเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก   แต่ในประเทศเพื่อนบ้านมีแล้ว นั่นอาจจะเป็นเพราะมาตรการต่างๆอาจจะแตกต่างจากประเทศไทย คาดว่าจำนวนผู้ป่วยในเดือนหน้าจะลดลง 
 
ทั้งนี้หากประชาชนสงสัย ต้องการปรึกษากับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือหากโรงเรียนใดมีผู้ป่วยมากให้โทรแจ้งที่สายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นบริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง มี 20 คู่สาย เมื่อเจ้าหน้าที่รับข้อมูลแล้ว จะสามารถไปช่วยเหลือได้ทัน เช่น อาจจะไปทำความสะอาดฆ่าเชื้อ หรืออาจจะให้คำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันป้องกันและดูแลโดยเฉพาะโรงเรียน โดยแจกอุปกรณ์ต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาด โปสเตอร์คำแนะนำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลตามสถานที่ต่างๆอยู่แล้ว และมีคำสั่งให้ทุกโรงพยาบาล เร่งรณรงค์ให้คำแนะนำประชาชนในการดูแลตนเองและลูกหลาน เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายมาก นอกจากว่าปล่อยให้เป็นรุนแรงและไม่ยอมไปพบแพทย์ 
 
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ขอย้ำว่าให้ประชาชนทุกคน ใส่ใจในการดูแลความสะอาดทุกวันให้เป็นนิสัย ไม่ใช่แค่ช่วงที่มีโรคระบาด พ่อแม่หลังเลิกงานควรล้างมือก่อนที่จะเล่นกับลูก อุ้ม หรือกอดลูก โดยในปีหน้านี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน กระทรวงสาธารณสุขจะขอให้ทุกคนทุกบ้าน ทุกสถานที่ ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค อย่ารอให้ป่วยก่อนแล้วค่อยทำ และเร่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจออกกำลังกายให้มากขึ้น ปัจจุบันประชาชนไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย มักชอบอยู่ในห้องแอร์ ทำให้เกิดโรคต่างๆมากขึ้น โดยรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ให้ประชาชนทราบและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง
 
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคมือเท้าปากในปีนี้ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มการประชาสัมพันธ์มากขึ้น เนื่องจากเราทราบข่าวว่าประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม มีผู้ป่วยกว่า 63,000 คน เสียชีวิต 34 คน และในกัมพูชาก็เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนในจีน ป่วยกว่า 1.2 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 100 คน สิงคโปร์ป่วยกว่า 26,000 คน ทั้งที่มีประชากรไม่มาก สำหรับในประเทศไทย มีการเผยแพร่ความรู้มากขึ้น จึงทำให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ทำให้ประชาชนไปพบแพทย์มากขึ้น และเชื้อที่พบปีนี้ซึ่งมีการเก็บตัวอย่างมาตลอด พบว่าขณะนี้ยังไม่มีเชื้อที่รุนแรง ที่จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนทำให้ถึงตายได้ ซึ่งทุกปีที่ผ่านมาก็พบโรคนี้ได้ทั่วไป และยืนยันปีนี้เราจะดูแลควบคุมให้ดีที่สุด โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ อยู่กับประเทศไทยมา 50 ปีแล้ว เชื้อไม่มีการกลายพันธุ์ แต่การที่เกิดการระบาดในช่วงนี้ เพราะเด็กเข้าโรงเรียนใหม่ เด็กที่ยังไม่เคยป่วย จะไม่มีภูมิต้านทาน โดยเฉพาะเด็กเล็กหรือเด็กอนุบาล ก็จะไปรับเชื้อมาจากเพื่อนที่เป็นในห้องเรียน จึงติดต่อกันง่าย แต่หากใครเป็นแล้ว จะไม่เป็นอีกเพราะร่างกายจะมีภูมิคุ้มกัน
 
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ให้ความร่วมมือหากโรงเรียนจะต้องปิด ทั้งนี้เพราะจะเป็นการดูแลลูกหลานท่านไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว หากประชาชนสงสัยหรือต้องการข้อมูลเรื่องโรคมือ เท้า ปาก เพิ่มเติมก็สามารถดูได้ที่เวปไซต์กรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th  หรือโทรสอบถามที่เบอร์ 1422 ได้ 
 
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อไปว่า วงจรชีวิตเชื้อไวรัสมือเท้าปาก จะชอบอากาศที่ชื้นและเย็น หากมีฝนตกหรืออากาศเย็นเชื้อก็จะสามารถอยู่ได้นานหลายวัน โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่เชื้อได้ 2 ทาง คือ 1.ทางน้ำลายและน้ำมูกที่ติดอยู่ตามสิ่งของต่างๆ 2.ทางอุจจาระ โดยเชื้อจะสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก และเชื้อจะไปตามกระแสเลือด อาการของโรค คือ มีไข้สูง เกิดผื่นหรือตุ่มขึ้นที่มือ ปาก หรือเท้า ในรายที่ไม่รุนแรง หลังจากเป็นไข้ 2-3 วัน อาการจะเริ่มดีขึ้น ไข้จะลดลง ไม่มีอาการซึม และจะหายป่วยไปเอง แต่ถ้ามีไข้สูงเกิน 3 วัน แสดงว่าอาการไม่ดีนัก ต้องรีบไปพบแพทย์ หากปล่อยไว้เด็กอาจจะมีอาการชัก ขาอ่อนแรง และซึม แสดงว่าเชื้ออาจเข้าสู่สมองซึ่งจะอันตรายมาก รัฐบาลได้มอบหมายให้โรงพยาบาล และกรมควบคุมโรครีบให้ความรู้ประชาชน เนื่องจากโรคนี้ไม่รุนแรงถึงตาย หากรีบมาพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในปีนี้กับปีที่แล้วไม่ได้แตกต่างกันมาก  ส่วนจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว  เนื่องจากประชาชนตระหนักและตื่นตัว   รีบพาเด็กไปพบแพทย์หากมีอาการ และผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่ตรวจแล้ว จะกลับบ้านได้ เพราะอาการไม่รุนแรง     
                                                                                                            
ด้านแพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า อาการของผู้ที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ไม่สูงมาก หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วัน จะมีตุ่มขึ้นในปาก เด็กจะมีน้ำลายไหล ไม่ยอมกินอาหารและจะงอแง เนื่องจากเด็กจะหิว   หากดูที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าก็จะมีตุ่มแดงๆ โดยตุ่มตามมือ ตามเท้ามักจะไม่แตก แต่ตุ่มในปากจะแตก และเมื่อแตกแล้วเด็กจะเจ็บ ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นให้สงสัยไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นโรคนี้   และโรคมือเท้าปากมี 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มไม่รุนแรง เด็กจะมีไข้สูง แต่หากมีไข้เกิน 2 วันไข้ไม่ลด ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะจะได้ตรวจให้แน่ใจ หากไม่เป็นโรคมือเท้าปาก ก็อาจจะเป็นโรคอื่นๆได้ เช่น โรคไข้เลือดออก 2.กลุ่มรุนแรง เด็กจะมีไข้สูงมาก และมีตุ่มในปาก สำหรับกรณีนี้ควรพาเด็กมาพบแพทย์ นอกจากการมีไข้สูงเกิน 2 วันแล้ว ถ้าเมื่อไหร่มีอาการเกร็ง กระตุก อาเจียน เดินเซ ตามัว ซึ่งเป็นอาการผิดปกติ ต้องรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
 
แพทย์หญิงศิราภรณ์ กล่าวต่อว่า ปีที่แล้วทั้งปีมีคนไข้ป่วยเป็นโรคนี้ เป็นคนไข้นอกประมาณ 2,300 คน นอนโรงพยาบาลเพียง 100 คน ที่ผ่านมารพ.เด็กยังไม่มีผู้เสียชีวิต และเหตุที่เด็กต้องนอนโรงพยาบาล เพราะกินอาหารไม่ได้ จึงต้องให้น้ำเกลือ ไม่มีรายใดรุนแรง และรักษาตามอาการ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องไข้ ต้องเช็ดตัวบ่อยๆ โดยให้เช็ดตรงที่เส้นเลือดผ่าน ตามคอ รักแร้ และให้เด็กกินน้ำมากๆ บ้วนปากมากๆ กินอาหารอ่อน หากเด็กบางคนเจ็บแผลในปาก ก็ให้กินไอศกรีมหรือน้ำแข็งได้ และพ่อแม่ที่มีลูกป่วยอยู่ที่บ้าน ขอให้พยายามเช็ดตัวลดไข้ ให้ยาลดไข้ตามจำเป็น ถ้าเด็กมีอาการเกร็ง ซึม อาเจียน หรือซึม หรือพูดไม่รู้เรื่อง เดินเซ ให้รีบไปพบแพทย์ หากมีเด็กหลายคนในบ้าน เมื่อคนใดคนหนึ่งป่วย ให้แยกเด็กออกจากกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
 
 ในการป้องกันโรคมือเท้าปาก พ่อแม่จะต้องคอยดูแลล้างมือเด็กบ่อยๆ และต้องฟอกสบู่ด้วย เพราะเด็กมักชอบเอามือเข้าปาก ชอบป้าย และล้างมือไม่เป็นหรือไม่ชอบล้าง และขอให้ประชาชนกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ รวมทั้งแม่กับเด็ก อย่ากินอาหารช้อนเดียวกัน เช่น ป้อนข้าวลูกแล้วแม่กินด้วย เป็นต้น
 
แพทย์หญิงศิราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า ในกรณีที่เชื้อมือเท้าปาก ติดต่อผู้ใหญ่นั้น อาจเป็นไปได้ แต่หากใครเคยป่วยหรือเคยได้รับเชื้อมาก่อน จะไม่เป็นอีก หรือถ้าป่วยก็เกิดจากเชื้อสายพันธุ์อื่น อาการในผู้ใหญ่คืออาจเป็นไข้ต่ำๆ มีตุ่ม  1-2  ตุ่มขึ้นที่มือ เท้า หรือไม่มีก็ได้ ไม่มีอาการรุนแรง  
 
กรณีที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้เริ่มพบว่ามีวัยรุ่นและผู้ใหญ่เป็นมากขึ้น อาการของโรคนี้คือ จะมีไข้สูง ตาแดง ปวดกระดูก หรือถ่ายเหลวด้วย หากมีไข้สูงมากและไข้ไม่ลดลง ตาแดงมาก มีคลื่นไส้อาเจียนบริเวณจุดเลือดออกที่สังเกตง่ายคือที่ผิวหนัง เช่น ที่รักแร้ คอ ถือว่าเป็นอันตรายมาก โรคไข้เลือดออก รักษาไม่ทันอาจจะเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหากเป็นไข้ 2 วันแล้วไข้ไม่ลด ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อที่จะได้ตรวจดูว่าเป็นโรคอะไรแน่ อย่าประมาทว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว จะไม่เป็นไข้เลือดออก และนอกจากโรคมือเท้าปาก โรคไข้เลือดออกแล้ว ยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วง และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตเด็กมากที่สุด คือ อุบัติเหตุ การพลักตก หกล้ม รถชน หรือการจมน้ำ ซึ่งมีมากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคระบาด แพทย์หญิงศิราภรณ์กล่าว  
 
******************************* 21 กรกฎาคม 2555


   
   


View 10    21/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ