รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งขยายความครอบคลุมการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินและสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น และญาติสายตรงจำนวนประมาณ 800,000 คน คาดสรุปผลได้ภายใน 6 เดือนและมีผลบังคับใช้ได้ทั่วประเทศในปี 2556  

วันนี้ (31กรกฎาคม2555) ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังบรรยายพิเศษ นโยบายกระทรวงสาธารณสุข ต่อการบริหารหลักประกันสุขภาพของท้องถิ่น ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 ของสมาคมพนักงานท้องถิ่น ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายสร้างความเสมอภาคของ 3 กองทุนคือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งได้เริ่มที่บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา สร้างความสะดวกผู้ที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุนเป็นอย่างดี เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ ไม่ต้องถามสิทธิ์หรือสำรองจ่ายก่อน แต่สิทธิ์ดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัว จำนวนประมาณ 800,000 คน เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือ อปท.มีกฎหมายและระเบียบเฉพาะรวมทั้งการเบิกจ่ายค่ารักษาแยกส่วนแต่ละองค์กรอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย แตกต่างจาก 3 กองทุน   โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ให้นโยบายสร้างความเสมอภาค 3 กองทุนคุ้มครองทุกคนอย่างแท้จริง ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกคนทุกสิทธิ 
 
นายวิทยากล่าวต่อไปว่า นอกจากการขยายสิทธิ์รักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ครอบคลุมถึงข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ร่วมประชุมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามาตรตรา 9 ของพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 โดยได้เร่งให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คาดว่าจะสามารถประกาศใช้อย่างเร็วที่สุดเดือนเมษายน 2556 หรือภายในตุลาคม 2556 เป็นอย่างช้า
 
ทางด้านนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. กล่าวว่า ในการวางแผนรองรับกลุ่มข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งประกอบด้วยสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ.76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล ไม่รวม กทม.และเมืองพัทยา จำนวน 5693 แห่ง มีพนักงานข้าราชการรวม 220,000 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 170,000 คน ลูกจ้างประจำ 20,000 คน พนักงานจ้าง 12,000 คน หากรวมบุตร บิดา มารดา จะมีประมาณ 800,000 คน สปสช.ได้วางกรอบการดำเนินการตามสิทธิโดยจัดโครงสร้างการจัดบริการสวัสดิการรักษาพยาบาล การจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้มีสิทธิระบบเงินอุดหนุนจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ระบบการเบิกจ่ายเพื่อชดเชยบริการ ให้หน่วยบริการตามสิทธิประโยชน์ ระบบการตรวจสอบเวชระเบียนและคุณภาพบริการ ระบบการคุ้มครองสิทธิและรับเรื่องร้องเรียนผ่านทางหมายเลข 1330 เช่นเดียวกับ 3 กองทุน หากมีการขยายสิทธิเพิ่มจากป่วยฉุกเฉินก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน
 
************************************** 31 กรกฏาคม 2555


   
   


View 9    31/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ