ในงานประชุมวิชาการประจำปี 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2555 ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาสมุนไพรรักษามะเร็งของหมอพื้นบ้าน จังหวัดตรัง พัทลุง และสงขลา โดยน.ส.กรวิกา เลื่อนแก้ว นักการแพทย์แผนไทย และคณะ จากโรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมภูมิปัญญาการใช้พืชสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งของหมอพื้นบ้านใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ตรัง พัทลุง และสงขลา เนื่องจากมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 1 ปีละประมาณ 60,000 คน

    นางสาวกรวิกากล่าวว่า ผลการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวในพ.ศ.2554 มีหมอพื้นบ้านที่รักษาโรคมะเร็ง 20 คน แต่ในจำนวนนี้ยินดีถ่ายทอดความรู้ในการรักษา 12 คน ประกอบด้วย ตรัง 3 คน พัทลุง 4 คน และสงขลา 5 คน อายุน้อยสุด 43 ปี และมากสุด 84 ปี มีประสบการณ์ด้านการรักษามากกว่า 20 ปีถึง 66 ปี โดยเฉลี่ยแล้วหมอพื้นบ้านจะเริ่มเป็นหมอรักษาตั้งแต่อายุ 20 ปี นางสาวกรวิกากล่าวต่อว่า ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคของหมอพื้นบ้าน ทุกคนจะใช้การซักประวัติและตรวจร่างกาย และมี 3 คนที่ใช้ผลวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนปัจจุบันมาประกอบด้วย โดยหมอพื้นบ้านดังกล่าว ใช้ยารักษาโรคมะเร็งรวมทั้งหมด 26 ตำรับ และมี 6 คนที่ใช้คาถาร่วมกับการใช้สมุนไพรรักษาโรค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความสบายใจให้ผู้ป่วย หมอพื้นบ้านจะคิดค่ารักษาเฉพาะค่ายาเป็นหลัก โดยเฉพาะสมุนไพรที่ไม่สามารถหาได้ในชุมชน หมอบางคนไม่ได้เรียกร้องค่ารักษาแต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของผู้ป่วยที่มารับการรักษา

       สำหรับตำรับยารักษาโรคมะเร็งของหมอพื้นบ้าน 26 ตำรับ มีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น 120 ชนิด ประกอบด้วย พืช 102 ชนิด แร่ธาตุ 14 ชนิด และส่วนที่ได้จากสัตว์ 4 ชนิด จากการวิเคราะห์ตำรับยาพบว่า สมุนไพรที่ใช้เป็นตัวยาหลัก และมีความถี่ในการใช้มากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่ ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ อันดับ 2 ขมิ้นอ้อย และอันดับ 3 ดีปลี ขันทองพยาบาท พุทธรักษา สะบ้า ซึ่งพืชสมุนไพรดังกล่าว มีงานวิจัยหลายชิ้นทั้งในและต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ อย่างเช่นข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณแก้กามโรค น้ำเหลืองเสียพุพอง มีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม สำหรับขันทองพยาบาทมีสรรพคุณแก้ลมพิษ แก้ไข้ ผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเนื้องอกได้

       นางสาวกรวิกากล่าวต่อไปว่า องค์ความรู้ในการรักษามะเร็งของหมอพื้นบ้าน ส่วนใหญ่จะได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ บางคนคิดว่ามะเร็งเป็นโรคใกล้ตัวจึงมีความสนใจศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ เช่น จากหมอที่มีประสบการณ์ และตำราต่างๆ โดยทัศนคติของหมอพื้นบ้านทั้ง 12 คน ให้ความหมายของมะเร็งว่า เป็นโรคเรื้อรัง เป็นแผลเน่าเปื่อย เป็นก้อน รักษายาก โดยเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ การรับประทานอาหารประเภทปิ้งย่าง การบาดเจ็บซ้ำๆ หรือเป็นแผลฟกช้ำมาก่อนแล้วกลายเป็นมะเร็ง จากเลือดเป็นกรดเพราะกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฏีการแพทย์แผนไทย จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามีหมอพื้นบ้านในจำนวนไม่น้อย ยังคงใช้สมุนไพรในการรักษาโรคมะเร็ง และผู้ป่วยส่วนหนึ่งยังคงมีความไว้วางใจและเชื่อมั่นประสิทธิภาพของสมุนไพร ผู้ป่วยมะเร็งที่นิยมไปรักษากับหมอพื้นบ้านประมาณร้อยละ 70 จะผ่านการรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน มะเร็งที่นิยมรักษาได้แก่ มะเร็งผิวหนัง เต้านม ปากมดลูก และปอด ซึ่งมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยประสิทธิผลของการรักษาเพื่อพัฒนาเป็นตำรับยาต่อไป

 ***************************** 13 กันยายน 2555



   
   


View 11    13/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ