วันนี้ (14กันยายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แถลงข่าวความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนไต รักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังรังระยะสุดท้ายของโรงพยาบาลหาดใหญ่ ว่า ปัจจุบันพบว่าโรคไตวายเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศที่สำคัญ มีผู้ป่วยจำนวนมากถึง 4แสนราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมากถึง 38,780 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปีละประมาณ 400 ราย สาเหตุในไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 เกิดจากการป่วยเป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงมาก่อน ทำให้หลอดเลือดฝอยในไตแข็งตัวและเสื่อมสภาพอย่างถาวร เมื่อเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแล้ว จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการบำบัดของเสียในร่างกายทดแทนไตที่เสียไป ที่นิยมมีอยู่ 3 วิธี คือ การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal dialysis) การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และการปลูกถ่ายเปลี่ยนไต (Kidney transplant) ซึ่งวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายเปลี่ยนไตจัดว่าเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลดีที่สุดคือ มีอัตราการรอดชีวิตสูง และค่าใช้จ่ายโดยรวมในระยะยาว น้อยกว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง 

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า ปัญหาในการปลูกถ่ายไตที่ทั่วโลกประสบเหมือนกัน คือการขาดแคลนผู้บริจาคไต ทำให้แต่ละปีมีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตปีละ 200-300ราย ได้ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยที่รอผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่วนใหญ่รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้องและการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพื่อชะลอการเสื่อมของไต ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งรณรงค์สร้างค่านิยมให้ประชาชน โดยเฉพาะญาติของผู้ป่วยที่สมองตายแล้วบริจาคไตเพื่อต่อชีวิตให้ผู้ป่วยรายอื่นๆ   
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะของสภากาชาดไทย ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2547-30 เมษายน 2555 รวม 8 ปี  มีผู้บริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองตายแล้ว 1,208 ราย มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 2,814 ราย มีผู้ป่วยที่รออวัยวะปลูกถ่ายทุกอวัยวะ 3,241 ราย   
นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้ 15 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลกโรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี   กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคมีทั้งหมด 19 แห่ง ให้สามารถทำการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะได้ และร่วมมือกับสภากาชาดไทยในการรับบริจาคอวัยวะจากญาติของผู้ป่วยสมองตายเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด ล่าสุดนี้ประสบผลสำเร็จเพิ่มอีก 1 แห่ง คือโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา  
ด้านนายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ กล่าวว่า ภาคใต้มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง จำนวน 36,750ราย โดยรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ 1,837ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 511 ราย รักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง 85 ราย ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 100 ราย รอการตัดสินใจทางเลือก 212 ที่เหลือรักษาโดยยาทั้งนี้ โรงพยาบาลหาดใหญ่ได้จัดตั้งศูนย์ปลูกถ่ายไตส่งทีมแพทย์/พยาบาล/บุคลลากรทางการแพทย์ไปอบรมที่โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ พัฒนาความ
พร้อมห้องผ่าตัด และเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยทั้งก่อน-หลังผ่าตัด โดยจัดเป็นหอผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ (Ward Transplant Unit) โดยเฉพาะ มีทีมแพทย์พร้อมในการผ่าตัดครบทุกด้าน ประกอบด้วย อายุรแพทย์โรคไต 2 คน      ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ 6 คน ศัลยแพทย์หลอดเลือด 2คน วิสัญญีแพทย์ 4 คน รังสีแพทย์ 2 คน พยาธิแพทย์ 1 คน
นายแพทย์กุลเดชกล่าวต่อว่า ได้เริ่มคัดกรองผู้ป่วยรายแรกเมื่อกรกฎาคม สิงหาคม 2555และทำการผ่าตัดผู้ป่วยรายแรกสำเร็จแล้ว 1 คู่ เมื่อวันที่ 29สิงหาคม 2555 เป็นผู้ป่วยชายอายุ 44 ปี เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมา 2ปี เริ่มรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง 1 ปี บ้านอยู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ใช้สิทธิ์บัตรทองเขต อ.หาดใหญ่ โดยผู้บริจาคไตอายุ 58ปี เป็นพี่สาวของผู้ป่วยเอง มีสุขภาพแข็งแรง ใช้สิทธิบัตรทองเช่นกัน โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มาเป็นทีมแพทย์พี่เลี้ยงในการผ่าตัดขณะนี้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวอยู่หอผู้ป่วย 420ห้องพิเศษ 425หอผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ จากการประเมินผลหลังผ่าตัด การทำงานของไตอยู่เกณฑ์น่าพอใจ และขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังคัดกรองเพื่อรอลงทะเบียนจากผู้ป่วยสมองตาย จำนวน 7 รายและคัดกรองเพื่อการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต (living donor) 3คู่    
ทั้งนี้ การบริจาคอวัยวะนั้น สามารถบริจาคได้ทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่และผู้ที่อยู่ในภาวะสมองตายแล้ว ในการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะนั้น ผู้รับบริจาคจะต้องมีกลุ่มเลือดตรงกันและเนื้อเยื่อเข้ากันได้ สำหรับผู้บริจาคอวัยวะที่มียังมีชีวิต จะต้องมีอายุระหว่าง18-60ปี ไม่มีการติดเชื้อเอชไอวีหรือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ไม่เป็นมะเร็งหรือโรคติดเชื้อที่ยังรักษาไม่หายขาด ไม่ป่วยเป็นโรคไตโรคระบบทางเดินปัสสาวะเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง โรคจิตโรคหัวใจ  โรคตับ โรคปอด มีหมู่เลือดที่เข้ากับผู้ป่วยได้ โดยต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนภายในเวลาไม่เกิน 6 ชั่วใมง 
********************************* 14 กันยายน 2555


   
   


View 11    14/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ