“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 128 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้อสม.พร้อมรับภัยพิบัติ โดยเฉพาะอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อบรม อสม.เชี่ยวชาญการจัดการสุขภาพในภาวะวิกฤตเพิ่มอีก 70,000 คนในปีหน้า และเร่งจัดทำคู่มืออสม.ดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
วันนี้ (14 กันยายน 2555) ที่วัดรังสิต เทศบาลตำบลหลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพบปะและมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติแก่อาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. ภาคีเครือข่ายสุขภาพ และประชาชน จำนวน 500 คน ว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติมีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จำเป็นที่ภาคประชาชนต้องมีการเตรียมความพร้อม ร่วมวางแผน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม. ซึ่งเป็นแกนนำภาคประชาชน ให้มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพในภาวะวิกฤตแล้วจำนวน 70,000 คน ในปีหน้าจะอบรมเพิ่ม อีก 70,000 คน เพื่อให้สามารถวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุทกภัยซึ่งในปีนี้กำลังเกิดขึ้นทางภาคเหนือและภาคกลาง รวม 16 จังหวัด และยังไม่อาจคาดประมาณได้ว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
นายวิทยากล่าวต่อว่า ขณะนี้ ได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งมีศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน 5 ศูนย์ใน 4 ภาคของประเทศ เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อใช้เป็นคู่มือการดำเนินงานของอสม.ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ 1.การวางแผนเตรียมการรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ ทั้งการวิเคราะห์กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงในชุมชน ฐานข้อมูลสุขภาพของครัวเรือน การแจ้งเตือนประชาชน ระบบและเครื่องมือสื่อสาร แผนการเยี่ยมบ้าน การดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ การเคลื่อนย้ายส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เป็นต้น 2.การวางแผนจัดการช่วงเกิดภัยพิบัติ ดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เจ็บป่วย การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคที่มากับน้ำท่วม และ3.การวางแผนจัดการช่วงฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ ทั้งด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลน้ำและอาหาร เพื่อป้องกันโรคระบาดและฟื้นฟูเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
“เชื่อมั่นว่า หากเกิดน้ำท่วมหรือภัยพิบัติอื่นๆ ขึ้น อสม.จะเป็นกำลังสำคัญในการดูแลช่วยเหลือประชาชน ในเรื่องสุขภาพและอื่น ๆ ช่วยเหลือดูแลผู้เจ็บป่วยในเบื้องต้น ก่อนถึงมือแพทย์พยาบาลได้ รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคระบาดรุนแรง ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินลงได้” นายวิทยากล่าว
************************************ 14 กันยายน 2555