รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือผู้แทนกรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม วางระบบบริการผู้ป่วยไตวาย ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ รวม 264,052 คน มาตรฐานเดียวกันตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
วันนี้ (18 กันยายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้แทนจาก 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขปลัดกระทรวงแรงงาน กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคมหรือสปส. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ว่า ในวันนี้ เป็นการวางมาตรการความพร้อมบูรณาการจัดระบบบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุน ซึ่งมีทั้งหมด 264,052 คน ตามนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายทุกสิทธิ์เข้าถึงการบำบัดรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน และได้รับการรักษาแบบเดิมอย่างต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนสิทธิการรักษาก็ตาม ซึ่งขณะนี้ 3 กองทุนยังมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันอยู่บ้างบางประการแต่ไม่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการ โดยจะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปแบบเดียวกันสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปีนี้
นายวิทยากล่าวต่อว่า การรักษาจะมี 4 ระบบบริการทั้ง 2 โรค โดยบริการโรคเอดส์ ประกอบด้วย 1.การรักษาด้วยยาต้านไวรัสและยาอื่นๆ 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามการรักษา 3.บริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือดแบบสมัครใจ และ4.การป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ สำหรับบริการโรคไตวาย ประกอบด้วย 1.การล้างไตทางช่องท้อง 2.การฟอกลือด 3.การให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง และ 4.การปลูกถ่ายไต โดยผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่เปลี่ยนสิทธิการรักษาจะได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการรักษาแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต่องสำรองค่าใช้จ่าย และได้รับความสะดวก หากจำเป็นต้องเปลี่ยนไปรับการรักษาที่หน่วยบริการคู่สัญญาของกองทุนที่ย้ายเข้าไปใหม่
กรณีที่มีการเปลี่ยนสิทธิการรักษาผู้ป่วยทั้ง 2 โรค ได้วางแนวทางไว้ดังนี้ 1.เปลี่ยนจาก 30 บาทเป็นประกันสังคมผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 90 วัน สามารถเลือก รพ.คู่สัญญาและเลือก รพ.ที่จะรักษาได้ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.เดียวกันก็ได้ 2.เปลี่ยนสิทธิประกันสังคมเป็น 30 บาท ผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 180 วัน สามารถเลือก รพ.คู่สัญญาและเลือก รพ.ที่จะรักษาได้ซึ่งไม่จำเป็นต้อง รพ.เดียวกันก็ได้ 3.เปลี่ยนสิทธิจาก 30 บาทเป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ให้รีบดำเนินการทันทีหลังบรรจุ และให้ติดต่อเลือก รพ.ของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า 4.เปลี่ยนจากสิทธิข้าราชการเป็น 30 บาทให้รีบดำเนินการทันทีหลังพ้นจากสิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ และเลือกลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและเลือกโรงพยาบาลที่จะรักษาอาจเป็นคนละโรงพยาบาลก็ได้ 5.เปลี่ยนสิทธิจากข้าราชการเป็นประกันสังคม ผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 90 วัน เลือก รพ. คู่สัญญาและเลือก รพ. ที่จะรักษาได้ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น รพ. เดียวกันก็ได้ และ 6.เปลี่ยนสิทธิจากประกันสังคมเป็นข้าราชการ ผู้ป่วยจะทราบล่วงหน้า 180 วัน ให้ติดต่อเลือกรพ.ของรัฐที่สะดวกเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้า ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนโรงพยาบาล ให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาเดิมสรุปประวัติการบริการให้ผู้ป่วยนำไปยื่นแก่โรงพยาบาลแห่งใหม่ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทั้ง 3 กองทุนจัดศูนย์บริการติดต่อสอบถามหรือคอลเซนเตอร์ ให้คำแนะนำปรึกษาผู้ป่วยทางหมายเลข 1330, 1506 และ 0 2127 7000 ต่อ 4102, 4914-6 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส มีทั้งสิ้น 225,272 คน ประกอบด้วยสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน สิทธิประกันสังคม 46,114 คน สิทธิข้าราชการ 12,059 คน และสิทธิอื่น ๆ 18,742 คน ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 38,780 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน
********** 18 กันยายน 2555
View 11
18/09/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ