รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขยายหน่วยบริการรักษาพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประจำพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่  โดยยกระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลช้างเผือก เป็นโรงพยาบาลสาขาของโรงพยาบาลนครพิงค์  ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไปมาตรฐานเดียวกัน พร้อมเล็งขยายเพิ่มอีก 3 แห่ง และวางแผนสร้างโรงพยาบาลขนาด 90 เตียงประจำอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในปี 2557-2559

วันนี้ (27 กันยายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์วิศิษฐ์  ตั้งนภากร  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข  และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานเปิดป้ายโรงพยาบาล(รพ.)นครพิงค์ สาขาช้างเผือก ต.ช้างเผือก  อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และให้สัมภาษณ์ว่า  จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีประชากรประมาณ 1.7  ล้านคน หากนับรวมประชากรแฝงและแรงงานต่างด้าว อาจมีถึง 2 ล้านคน และเป็นจังหวัดเดียวในประเทศที่ไม่มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขประจำในเขตอำเภอเมือง เหมือนกับพื้นทื่อื่นๆ  โดยโรงพยาบาลประจำจังหวัดในสังกัดฯคือโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.แม่ริม อยู่ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 10 กิโลเมตร ประชาชนในเขต อ.เมืองรวม 16  ตำบล ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมี 150,878 คน  เกือบทั้งหมดต้องไปใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการ   ซึ่งระบบบริการส่วนใหญ่เน้นการรักษาเป็นหลัก และได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขสร้างโรงพยาบาลเพิ่มประจำในพื้นที่เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น 

 นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า  ในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนจะก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 90-120 เตียง ประจำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ในปี 2557-2559 เพื่อให้บริการประชาชนในเขตอำเภอเมือง  ในระหว่างนี้ได้มอบหมายให้รพ.นครพิงค์กระจายบริการเป็นโรงพยาบาลสาขา จำนวน 4 แห่ง  ใน 4 มุมเมือง โดยได้พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ช้างเผือก  ซึ่งดูแลประชากร 1 หมื่นกว่ารายและบริเวณใกล้เคียง ให้เป็นโรงพยาบาลสาขาของโรงพยาบาลนครพิงค์แห่งแรก ให้บริการเฉพาะแผนกผู้ป่วยนอกหรือเรียกว่าโอพีดี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคตรวจรักษาผู้ป่วยเหมือนไปตรวจที่โรงพยาบาลนครพิงค์ แต่ไม่มีเตียงนอนรักษา

ทั้งนี้บริการของโรงพยาบาลนครพิงค์สาขาช้างเผือก  ประกอบด้วย คลินิกทำฟัน คลินิกเบาหวาน ความดันโลหิต คลินิกผู้สูงอายุ การให้วัคซีนเด็ก มีห้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเบื้องต้น และมีบริการสร้างสุขภาพ เยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ใช้ยารักษามาตรฐานเดียวกัน โดยจัดบุคลากรจากโรงพยาบาลนครพิงค์หมุนเวียนให้บริการ ประกอบด้วยแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน ผู้ช่วยทันตแพทย์ 1คน พยาบาลวิชาชีพ 5 คน เภสัชกร 1 คน ผู้ช่วยเภสัชกร 1 คน นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด  หากมีผู้ป่วยมีอาการรุนแรง จะส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และอยู่ระหว่างสำรวจพื้นที่เพื่อจัดเป็นโรงพยาบาลสาขาที่เหลืออีก 3 แห่งต่อไป โดยจะมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆเพื่อพัฒนาระบบให้บริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวอีกว่า  ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีประมาณ 48 ล้านคน สามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลจากปีละ 2 ครั้ง เป็นปีละ 4 ครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เปลี่ยนแปลงที่อยู่บ่อย  ไม่ต้องเดินทางกลับไปใช้สถานบริการเดิม       ******************************* 27 กันยายน 2555

 



   
   


View 13    27/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ