บ่ายวันนี้ (28 กันยายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงแนวนโยบายและความพร้อมของโรงพยาบาลเพื่อดำเนินงานการบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ ในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอ วี ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ตามนโยบายนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป

 

นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า ในวันนี้ ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนในสังกัดทุกแห่ง เตรียมความพร้อมระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยเอดส์และไตวายที่อยู่ภายใต้สิทธิ์ 3 กองทุน ซึ่งมีทั้งหมด 264,052 คน ให้ได้รับการรักษาแบบเดิมต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนสิทธิ์ก็ตาม เป็นนโยบายบูรณาการที่ 2 ต่อจากการบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลที่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนมากที่สุด หลักการสำคัญคือ ให้ผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ เมื่อมีการเปลี่ยนสิทธิ์ก็ยังคงได้รับการรักษาเหมือนเดิมและต่อเนื่อง จะส่งผลดีทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ และลดภาวะแทรกซ้อนจากการขาดยา หรือขาดการรักษาที่ต่อเนื่อง

 

ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบนโยบายการบูรณาการสิทธิ 3 กองทุน โดยเฉพาะผู้ป่วยทั้ง 2 โรค เพื่อให้สามารถเข้ารับบริการได้อย่างราบรื่น โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดจุดประสานบริการที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วย และให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยในการลงทะเบียนการเปลี่ยนสิทธิ  ประสานรับข้อมูลทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเดิมที่เคยรักษา และแจ้งข้อมูลให้แพทย์ พยาบาลที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมทั้งนัดหมายให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยกรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนโรงพยาบาล ขอให้โรงพยาบาลแห่งเดิมอำนวยความสะดวกผู้ป่วยเรื่องข้อมูลประวัติการรักษาให้ผู้ป่วยนำไปยื่นแก่โรงพยาบาลแห่งใหม่ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายหลักคือผู้ป่วยต้องไม่ขาดยา และไม่ขาดการรักษาต่อเนื่องจากการเปลี่ยนสิทธิ  

 

ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ให้โรงพยาบาลทุกแห่งชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ มอบหมายให้สำนักงานกลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ และติดตามประเมินผล ปัญหาอุปสรรค ร่วมกับสำนักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. เน้น 3 ด้าน คือการเข้าถึงบริการ คุณภาพการดูแลรักษา และประสิทธิภาพการจัดการ เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาระบบให้สมบูรณ์ต่อไป

 

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ที่รับยาต้านไวรัส มีทั้งสิ้น 225,272 คน ประกอบด้วยสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน สิทธิประกันสังคม 46,114 คน สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 12,059 คน และสิทธิอื่นๆ 18,742 คน ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 38,780 คน เป็นสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน สิทธิข้าราชการ 8,810 คน

 

**********************  28 กันยายน 2555



   
   


View 17    28/09/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ