รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่หวั่น แม้ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ จากสำนักผู้แทนทางการค้าสหรัฐอเมริกา ยันการดำเนินการใช้มาตรการซีแอล ทำเพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงยาราคาแพงมากขึ้น ย้ำโปร่งใส พร้อมเดินหน้าทำความเข้าใจ ชี้แจงข้อเท็จจริง วันนี้ (2 พฤษภาคม 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 30 คน เข้าพบ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือซีแอล (compulsory license) ยาต้านไวรัสเอดส์และยาโรคหัวใจที่มีสิทธิบัตร รวม 3 รายการ ได้แก่ ยาเอฟฟาวิเรนซ์ ของบริษัทเมอร์ค ชาร์ปแอนด์โดรม จำกัดหรือเอ็มเอสดี ยาคาแลตตรา ของบริษัทแอ๊บบอต แลบอราตอรีส์ จำกัด และยาพลาวิกซ์ ของบริษัทซาโนฟี่-ซินเทอร์ลาโบ (ประเทศไทย) จำกัด นายแพทย์มงคล กล่าวว่า จากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสทีอาร์ (USTR) จัดให้ไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL) โดยอ้างว่าไทยไม่คุ้มครองสิทธิทางปัญญาของผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายทางการค้า รองเท้า เทป ซีดี สัญญาณเคเบิล รวมทั้งการบังคับใช้สิทธิยาที่มีสิทธิบัตรโดยไม่โปร่งใส และอาจมีการบังคับใช้สิทธิในยาอีกหลายๆ ตัว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า การประกาศซีแอลของประเทศไทยนั้น ไม่ได้หมายถึงต้องทำซีแอล เป็นเพียงประกาศว่าจะทำ โดยก่อนที่จะประกาศนั้นได้มีการเปิดเจราจาต่อรองราคายาแล้ว เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพานิชย์โดยตลอด ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศการบังคับใช้สิทธิแล้ว 3 ตัว แต่มีเพียงยาเอฟฟาไวเรนซ์เท่านั้น ที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีการสั่งซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นำเข้ายาสามัญจากประเทศอินเดียในราคาที่ถูกกว่าและช่วยให้ผู้ติดเชื้อกว่า 20,000 คน สามารถเข้าถึงยาได้ครอบคลุมมากขึ้น ขณะที่ตัวยาอีก 2 ชนิด ยังไม่ได้ดำเนินการและจะทำซีแอลเท่าที่จำเป็น โดยในวันที่ 21-22 พฤษภาคมนี้ จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อทำความเข้าใจ ชี้แจงข้อเท็จจริงกับสภาคองเกรส รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐฯ เพื่อให้เจ้าของสิทธิบัตรยา เข้าใจถึงการดำเนินการมาตรการซีแอล รวมถึงเรื่องของความโปร่งใส และตัวยาที่ประกาศใช้ในมาตรการซีแอลของประเทศไทย ในการใช้มาตรการดังกล่าวประเทศไทยได้ทำอย่างนุ่มนวล และได้ขอร้องให้เจ้าของสิทธิบัตรยาเห็นใจคนไทยที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงยา ซึ่งการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการขอให้คนที่ไม่มีโอกาส ได้เป็นลูกค้าของบริษัทยาที่มีราคาแพง ได้กินยาที่มีราคาถูกลง เพื่อให้มีชีวิตต่อไป ซึ่งไม่ได้ทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมหนีไปไหน ทั้งนี้ในการใช้มาตรการ ซีแอล ประเทศไทยไม่ได้แสดงท่าทีก้าวร้าวต่อเจ้าของสิทธิบัตร พร้อมทั้งยืนยันว่าการดำเนินการใช้มาตรการซีแอลนั้น จะเดินหน้าและทำเพื่อประชาชนไทยต่อไป นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ที่จะถึงนี้ จะไปร่วมลงนามกับมูลนิธิ บิล คลินตัน เพื่อซื้อยาราคาถูกลง ซึ่งประเทศไทยได้ส่งเจตนารมณ์ในการร่วมซื้อยาราคาถูกไปแล้ว แต่เพื่อความหนักแน่นจึงส่งตัวแทนไปร่วมลงนามกับ 40 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อเจรจาสั่งซื้อยาในปริมาณมากและสามารถต่อรองกับบริษัทยาให้ได้ยาดีและราคาถูก นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย ยังได้มีหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขไทย เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 แจ้งให้ทราบว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศของบราซิล ได้แถลงข่าวการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรในยาเอฟฟาวิเรนซ์ของรัฐบาลเช่นกัน เนื่องจากประสบปัญหาคล้ายไทยคือ ที่บราซิลมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์สูงขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และยาเอฟฟาวิเรนซ์เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติของบราซิล ในการรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์ในปี 2550 นี้ คาดว่า รัฐบาลบราซิลต้องใช้เงินซื้อยาดังกล่าว ประมาณ 42.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือปีละ 580 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งได้มีการเจรจาต่อรองราคายากับเจ้าของสิทธิบัตรคือ บริษัทเมิร์ค ชาร์ป แอนด์ โดร์ม หลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้การประกาศใช้ซีแอลของบราซิล จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณซื้อยาเอฟฟาวิเรนซ์ในปีนี้ถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้านนายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินการเรื่องซีแอล เป็นเรื่องที่ยากมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องมีแนวร่วม เพื่อผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มีพูดคุยเรื่องซีแอลในที่ประชุม บรรยากาศในที่ประชุมให้การสนับสนุนการใช้มาตรการซีแอลต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี ***********************2 พฤษภาคม 2550


   
   


View 8    02/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ