ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาผู้หญิงและเด็กถูกกระทำรุนแรงในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสถิติในปี 2553 ทั่วประเทศมีเด็กและผู้หญิงถูกทำร้ายกว่า 25,000ราย เฉลี่ย 1 รายทุกๆ 20นาที ปัญหาอันดับ 1 ที่พบในเด็กคือการล่วงละเมิดทางเพศ จนเกิดปัญหาตั้งครรภ์มากขึ้น ส่วนในสตรีพบถูกทำร้ายร่างกาย ในปี 2556 นี้ ตั้งเป้าขยายบริการศูนย์พึ่งได้ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง ลงที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 76 แห่ง 76 จังหวัด จัดระบบเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้าน อาทิผู้หญิงและเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญา ผู้พิการ หรืออยู่ในครอบครัวที่เสพยาเสพติด ดื่มสุรา

วันนี้ (25พฤศจิกายน 2555) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล เพื่อกระตุ้นให้สังคมทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำและครอบครัว อย่างน้อย 6 เรื่อง ได้แก่ อันตรายจากการบาดเจ็บ ด้านจิตใจ การถูกทอดทิ้ง การล่วงละเมิดทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นกามโรค โรคเอดส์ ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลในสังกัดตั้งแต่พ.ศ. 2542 ตามมติของคณะรัฐมนตรี ให้บริการแบบสหวิชาชาชีพและครบวงจร ทั้งด้านการแพทย์ซึ่งให้การดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ การสังคมสงเคราะห์ ด้านกฎหมาย จนถึงขณะนี้ ได้ดำเนินการครบ 100 เปอร์เซ็นต์ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวม 95 แห่ง และได้ขยายบริการลงไปถึงระดับอำเภอคือโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 743 แห่ง จนถึงขณะนี้เปิดให้บริการไปแล้ว 600 กว่าแห่ง
 
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน ในปี 2549  ศูนย์พึ่งได้ให้การช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงรวม 15,882 รายเฉลี่ยวันละ 43 ราย และสถิติเพิ่มขึ้นเป็น 25,744 ราย ในปี 2553 ใมี เฉลี่ยวันละ 70  ราย หรือชั่วโมงละ 3 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กร้อยละ 51 เป็นสตรีร้อยละ 49
 
เมื่อแยกวิเคราะห์ความรุนแรง ในกลุ่มเด็ก พบว่าเกือบ 9 ใน 10ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงทั้งหมดเป็นเด็กหญิง พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 10-15 ปี คิดเป็นร้อยละ 47 รองลงมาคืออายุ 15-18 ปี   โดยถูกล่วงละเมิดทางเพศมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 9,374 ราย บางรายเกิดปัญหาตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ รองลงมาเป็นการทำร้ายร่างกาย จำนวน 2,985 ราย ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ส่วนความรุนแรงในเด็กที่อายุมากขึ้น พบผู้กระทำเป็นแฟนมากที่สุด รองลงมาคือเพื่อน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ สื่อลามก ความใกล้ชิดและโอกาสเอื้ออำนวย เป็นต้น สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านของผู้กระทำและบ้านที่เด็กอยู่อาศัย
 
ส่วนความรุนแรงในกลุ่มสตรี พบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มอายุ 25-45 ปี ร้อยละ 74 รองลงมาคืออายุ 18-25 ปี ปัญหาอันดับ 1 ที่พบได้แก่ การถูกกระทำรุนแรงทางร่างกาย จำนวน 9,453 ราย รองลงมาคือ ถูกกระทำทางเพศ จำนวน 2,224 ราย โดยถูกกระทำรุนแรงจากคู่สมรสมากที่สุดร้อยละ 46    สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการนอกใจ หึงหวง ทะเลาะวิวาท
 
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุข วางแผนพัฒนาศูนย์พึ่งได้ โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้ครบในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และขยายบริการลงในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เริ่มปีนี้ จังหวัดละ1 แห่ง รวม 76 แห่ง โดยจะให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงถูกกระทำรุนแรง ที่อยู่ในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มเด็กหญิง ผู้หญิงที่มีมีความพิการทางสติปัญญา ผู้พิการทางกาย ครอบครัวผู้ที่ติดยาเสพติด ดื่มสุรา พ่อแม่เป็นโรคจิต แตกแยก ทำงานเชื่อมโยงกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพิ่มให้สามารถคัดกรอง ส่งต่อ ดูแลเยียวยาปัญหาทางกายและทางจิตใจผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงในเบื้องต้นได้ หากรุนแรงจะส่งดูแลต่อในโรงพยาบาลใหญ่ จะช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลความปลอดภัย และมีที่พึ่งใกล้บ้าน และพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานการบริการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรี ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
 
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบการช่วยเหลือโดยร่วมกับองค์การแพธ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำโครงการพัฒนารูปแบบการให้บริการทางเลือกแก่ผู้หญิงที่ถูกกระทำทางเพศ และประสบปัญหาตั้งครรภ์ขณะไม่พร้อม ในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลปทุมธานี โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ โรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีสะเกษ เพื่อพัฒนาระบบคัดกรอง การให้คำปรึกษาทางเลือก การช่วยเหลือ และระบบการส่งต่อทางสุขภาพและสังคม ช่วยเหลือผู้หญิงกลุ่มนี้อย่างครบวงจร โดยมีศูนย์พึ่งได้เป็นจุดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยประชาชนที่พบเห็นผู้หญิงหรือเด็กถูกกระทำรุนแรง สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669  ตลอด 24  ชั่วโมง
 
***************************************** 25 พฤศจิกายน 2555
 
 


   
   


View 14    25/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ