ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเตือนภัยอันตรายการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เผยสถิติรอบ 5 ปี พบผู้บาดเจ็บสาหัสฉลองเทศกาลลอยกระทงทั่วประเทศรวม 2,587 ราย เฉลี่ยปีละ 517 ราย ตาย 6 ราย แนวโน้มสูงขึ้น กว่าร้อยละ 90 เป็นชาย เกือบครึ่งเป็นเด็ก นักเรียน นักศึกษาเฉลี่ยอายุ 17 ปี โดย 1 ใน 5 เล่นขณะมึนเมาสุรา เสนอให้ใช้กฎหมายเข้มข้น ห้ามขายเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ชี้พลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ จัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง

     นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทงและปีใหม่ที่จะถึงนี้ มีความเป็นห่วงภัยจากการเล่นพลุ ประทัดและดอกไม้ไฟ ซึ่งประชาชนมักจะนิยมใช้จุดเพิ่มบรรยากาศเพื่อความสนุก ความสวยงาม ฉลองเทศกาล จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกสะเก็ดดอกไม้ไฟหรือพลุ (Fireworks-related injuries) ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่าในรอบ 5 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2550 -2554 มีผู้บาดเจ็บรุนแรงเข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาล เครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 28 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,587 ราย เสียชีวิต 6 ราย เฉลี่ยมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวปีละ 517 ราย และมีแนวโน้มว่าจำนวนจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2550 มีผู้บาดเจ็บ 364 ราย ในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 642 ราย หรือเกือบ 2 เท่าตัว ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 95 มีอายุเฉลี่ย 17 ปี โดยร้อยละ 44 เป็นนักเรียน นักศึกษา ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานมีร้อยละ 27 วัยที่บาดเจ็บมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 10-14 ปี พบได้ร้อยละ 24 รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีและกลุ่มอายุ 14-19 ปี พบได้ร้อยละ 14 ทั้งสองกลุ่ม เวลาเกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดในช่วงบ่ายจนถึง 2 ทุ่ม ประการสำคัญยังพบว่าในกลุ่มผู้บาดเจ็บรุนแรงเกือบ 1 ใน 5 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย เดือนที่มักเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสูงสุดคือช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสำคัญคือวันออกพรรษา วันลอยกระทง และวันปีใหม่
      อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นดอกไม้ไฟ พลุหรือประทัดมากที่สุดคือ ข้อมือและมือคิดเป็นร้อยละ 48 โดยพบกระดูกนิ้วมือแตกหรือหักร้อยละ 21 นิ้วมือขาดทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องกลายเป็นผู้มีความพิการตั้งแต่อายุยังน้อยคิดเป็นร้อยละ 4 นอกจากนี้ยังได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะคิดเป็นร้อยละ 15 และถูกเปลวความร้อนลวกตามผิวหนังคิดเป็นร้อยละ 8 สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ร้อยละ 72 เกิดในที่พักอาศัยหรือบริเวณบ้าน รองลงมาคือ นา ไร่ และสวนคิดเป็นร้อยละ 8 และพบในสถานศึกษาคิดเป็นร้อยละ 6
     นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการแพทย์และสาธารณสุข โรงพยาบาลทุกแห่งได้จัดบริการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องการรองรับและแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุคือหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บมาแล้ว การป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นซึ่งมีทั้งการบาดเจ็บรุนแรง ความพิการ หรือการเสียชีวิตเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและได้ผลที่สุด จากการวิเคราะห์ปัญหาย้อนหลังไปจนถึงพ.ศ. 2541 พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เป็นกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากการเล่นพลุ จุดประทัดและดอกไม้ไฟสูงสุดถึงร้อยละ 54-60 ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มครูและผู้ปกครอง ขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแลนักเรียน บุตรหลานอย่างเข้มงวดในช่วงเทศกาลสำคัญที่กล่าวมา ควรสอนว่าไม่ควรเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟเป็นอันขาด เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต หรือพิการได้ ห้ามเด็กเล่นประทัดดัดแปลงผาดโผนเพื่อความสนุก และไม่ปล่อยให้อยู่ใกล้บริเวณที่มีการจุดประทัด ดอกไม้ไฟหรือพลุ  
     2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดการใช้กฎหมาย คือพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 กำหนดให้พลุ ดอกไม้ไฟ จัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง นายทะเบียนท้องที่ควรให้ความสำคัญในการควบคุมการจำหน่ายในช่วงเทศกาล และประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ค้า ผู้ผลิตพลุดอกไม้ไฟ รวมถึงประชาชนทราบว่าจะต้องมีการขออนุญาตค้าและผลิตให้ถูกต้อง และในกรณีเล่นพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ แล้วสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่นด้วย จะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 220 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
     3.ในกลุ่มผู้ค้า ไม่ควรขายประทัด พลุหรือดอกไม้ไฟ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และช่วยกันเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เมื่อพบเห็นสิ่งผิดปกติ หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิของผู้อื่นต้องรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบทันที                     
 *********************************     26 พฤศจิกายน 2555


   
   


View 14    28/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ