กระทรวงสาธารณสุข ย้ำชัดการออกร่างกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะ เป็นการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนส่วนรวมทุกคน ที่มาของการออกกฎหมายมาจากผลการวิจัยพบว่าคนไทยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซื้อเครื่องดื่มชนิดนี้ง่ายเกินไป เฉลี่ยเพียง 7 นาทีก็ซื้อได้  และเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นสิ้นค้าที่ทำให้คนไทยเจ็บ พิการ เสียชีวิตอันดับ  1  ยืนยันเป็นการห้ามที่เท่าเทียมหัน การขายของบนถนนทั้งอาหารและเครื่องดื่มอื่นยังสามารถกระทำได้ 

      จากกรณีที่สื่อมวลชนบางแขนง ได้นำเสนอข่าวในแนวทางที่มีการบิดเบือนว่า การออกกฎหมายลูกห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการรังแกคนจนนั้น  

          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าววันนี้ ( 17 ธันวาคม 2555) นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นมาเพื่อคุ้มครองประชาชนทุกคน ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรือริดรอนสิทธิของผู้ค้ารายย่อยแต่อย่างใด ผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งเราน่าจะเห็นใจคนส่วนใหญ่ที่ต้องใช้ฟุตบาทเดินเท้า หรือคนที่ไม่มีรถขับต้องเดินเท้า ไม่มีแม้แต่ทุนเปิดร้านข้างทาง ทั้งๆที่เขามีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้ทางเท้าที่ออกแบบมาให้ใช้ในการสัญจรตามกฎหมาย แต่กลับถูกละเมิดสิทธิจากร้านค้าริมฟุตบาท

                   นายแพทย์สมานกล่าวต่อว่า  ในบางมุมมองของบางกลุ่ม อาจจะคิดว่าการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนฟุตบาทเป็น “วิถีชีวิต” แต่เป็นวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม ทุกคนจึงต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้สังคมมีวิถีชีวิตที่เป็นสุขภาวะที่เหมาะสมและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งจากโรคต่างๆและจากอุบัติเหตุจราจร คนจนต้องได้รับความเคารพสิทธิ ต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกับคนรวย ประกาศฉบับนี้เป็นการคุ้มครองคนจน ทั้งคนที่ต้องเดินเท้าบนถนนและฟุตบาท กับผู้ขายเครื่องดื่มฯและลูกน้อง รวมถึงครอบครัวด้วย โดยให้งดเว้นการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่เสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งผู้ขาย ผู้ดื่ม และคนเดินเท้า ไม่เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีงามให้ลูกหลานเยาวชนของเราได้เห็น จนมองว่าเป็นเรื่องปกติ  จึงต้องเคารพและเห็นแก่ประโยชน์ของมหาชนคนส่วนใหญ่
                ทั้งนี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติทั่วไป แต่เป็นสินค้าที่ทำให้คนไทยเกิดการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต เป็นอันดับ 1 มากกว่ายาเสพติดทุกชนิดรวมกัน ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อตัวผู้ดื่มและผู้ที่ไม่ดื่มพอๆกัน ทั้งเรื่องอุบัติเหตุจราจร อาชญากรรม ปล้นฆ่า ข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ตามมาอีกมากมาย ล่าสุดจากการวิจัยถือว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติดที่รุนแรงมากกว่า ฝิ่น ยาอี รวมถึงบุหรี่หลายเท่า 

                “ที่มาของกฎหมายลูก “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี”ฉบับนี้ มาจากผลการศึกษาวิจัยที่พบว่าคนไทยซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเกินไป โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนใช้เวลาเฉลี่ยในการซื้อเพียง 7 นาที ซื้อได้ง่ายกว่าหนังสือที่เป็นสิ่งประเทืองปัญญา  และจากการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ พบว่าสถานที่อันดับ 1 ที่คนไทยอยากให้มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือ ทางเท้า ไหล่ทางและถนน นอกจากนี้คนส่วนใหญ่ทั่วประเทศมากกว่าร้อยละ 80 เห็นด้วยมากถึงมากที่สุด ในการออกกฎหมายให้มีการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนน ทางเท้าและไหล่ทาง มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยน้อยมากคือไม่ถึงร้อยละ 5 เท่านั้น และแม้แต่ผู้ที่นิยมการดื่มเองก็เห็นด้วยในการห้ามเช่นกัน แสดงให้เห็นว่ายังมีความห่วงใยสังคมในภาพรวม ไม่เห็นแก่ประโยชน์สุขส่วนตนมากกว่าส่วนรวม”  นายแพทย์สมานกล่าว

                นายแพทย์สมานกล่าวต่อว่า จำนวนของผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศมีเพียงร้อยละ 20  ซึ่งน้อยกว่าจำนวนคนที่ไม่ดื่มที่มีมากถึงร้อยละ 70   หากเทียบจำนวนผู้ขายกับผู้ที่มีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้รถ ใช้ถนน และทางเท้า นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก  ทั้งนี้ร่างกฎหมายใหม่นี้ห้ามแต่เพียงการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนถนน และเป็นการห้ามที่เท่าเทียมกันทั้งผับ บาร์ สถานประกอบการขนาดใหญ่ และรายย่อยอย่างเสมอภาค มิได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และไม่มีผลกระทบต่อการขายอาหารและเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆอย่างแน่นอน

*******************************************   17 ธันวาคม 2555

                   



   
   


View 13    17/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ