รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หารือ สปสช. อปท. เพื่อวางระบบการจัดบริการรักษาพยาบาล กลุ่มข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่นและครอบครัวที่มีกว่า 5 แสนคน เพิ่มความทัดเทียมกับสิทธิข้าราชการพลเรือน รักษาโรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ไม่ต้องสำรองจ่ายล่วงหน้า ในขั้นต้นจะจัดตั้งกองทุนกลางดูแล โดยหักจากงบประมาณท้องถิ่นประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท เตรียมเข้าครม.อนุมัติขออนุมัติในหลักการ
วันนี้ (19 ธันวาคม 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล แห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนตำบลและเทศบาล สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย ประชุมหารือแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพ ด้านการจัดบริการการรักษาพยาบาลกลุ่มข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ด้านค่ารักษาพยาบาล บางแห่งมีงบประมาณน้อยแต่เสียค่ารักษารักษาพยาบาลมากรับภาระไม่ไหว จึงได้มา ตกลงกันต้องมาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน เอาค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งจากสถิติ 3 ปีย้อนหลังเฉลี่ยประมาณ 5,000 ล้านบาท จากทั่วประเทศที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง เทศบาล 1,900 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,693 แห่ง มีข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างประจ้าง ครอบครัว จำนวน 537,692 คน ต่างคนต่างจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริง ผลการหารือในวันนี้ ในหลักการขั้นต้นจะมีการตั้งกองทุนกลางการรักษาพยาบาล โดยจะหักเงินจากงบประมาณเงินอุดหนุนอปท.ที่มีอยู่ประมาณ 500,000 ล้านบาทหักไว้ก่อนกระจายลงไปท้องถิ่นตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข โดยหักไว้ประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการประมาณการ
ขั้นต่อไปจะเป็นการหารือเรื่องสิทธิประโยชน์กับระบบการทำงาน หากเป็นระบบแบบปลายเปิดมีข้อพึงระวัง ค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้น เหมือนระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพลเรือน ที่ไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน สามารถรักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้ทุกแห่ง ซึ่งแต่ละฝ่ายต้องนำไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง และหากเลือกใช้ระบบปลายเปิด ต้องยอมรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตหากเป็นระบบแบบปลายปิด ก็จะมีการออกแบบให้ได้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ด้อยกว่ากัน แต่ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ชัดเจน เช่นในรูปแบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติบวกหรือ 30 บาทพลัส ที่ทางสปสช. เสนอ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดทั้งหมด
ทั้งนี้จะดำเนินการยกร่างบันทึกความร่วมมือ(MOU)และบันทึกแนบท้าย โดยมีตัวแทนจาก สปสช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตัวแทนฝ่ายการเมือง และ ตัวแทนข้าราชการประจำ ประมาณ เดือนมกราคม 2556 นี้ ในสาระสำคัญของร่างบันทึกความร่วมมือ จะเพิ่มเติมเรื่องกลไกการบริหารจัดการ รวมทั้งต้องมีการยกร่างพระราชกฤษฎีกาภายใต้มาตรา 9 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีผลในปีงบประมาณ 2557 ต่อไป ***************** 19 ธันวาคม 2555