วันนี้ (19 ธันวาคม 2555) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเสนอร่างกฎหมาย เนื่องจากมีผลสำรวจงานวิจัย รวมทั้งข้อเสนอแนะว่า การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนไหล่ทาง และทางเท้า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจราจรได้ โดยในหลักการของคำว่า “ไหล่ทาง”และ“ทางเท้า” จะครอบคลุมพื้นที่ของการจราจรทั้งหมดแต่คงต้องมีการพิจารณากันในคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ อีกครั้ง เนื่องจากประชาชนยังสับสน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า จุดประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ในการเสนอร่างกฎหมายนี้ เพื่อต้องการลดปัญหาอุบัติเหตุการจราจรที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเห็นว่ามีการจำหน่ายบนไหล่ทาง หรือทางเท้าทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อดื่มง่าย เช่น รถทัวร์ที่วิ่งผ่านมาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านค้า บนไหล่ทาง หรือทางเท้า แล้วขับรถและผู้โดยสารดื่มต่อในรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ และอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยของผู้โดยสาร และรถร่วมทางได้
สำหรับ ทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปกติ กทม. ห้ามขายสินค้าทุกอย่างรวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ส่วนจุดผ่อนผัน ที่ทางเทศกิจผ่อนผันให้จำหน่ายสินค้าอื่นๆ ก็สามารถขายได้ตามปกติ ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มั่นใจว่าร่าง พรบ.นี้ จะไม่กระทบต่อการขายสินค้าของประชาชน
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริงๆแล้ว ปัญหาน้ำเมานี้รุนแรงมาก เป็นสาเหตุทำให้คนไทยเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิตอันดับที่ 1 เป็นเสมือนหนองที่อยู่กลางหน้าอกของพวกเราชาวไทย จึงเป็นภาวะวิกฤต ที่ต้องบำบัดรักษาโดยด่วนที่สุด ซึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอนี้ เป็นการเสนอการผ่าตัดดูดเอาหนองออก ที่มีผลแทรกซ้อนน้อยที่สุด คือห้ามขายเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะเท่านั้น เหมือนกับการผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องเปิดแผลขนาดเล็กเพื่อดูดหนองออก แต่ถ้าใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมคือ 1.พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 44 ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อ ขาย แจกจ่าย หรือเรี่ยไร บนทางจราจรและไหล่ทาง ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงทางเท้า มีโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 109 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้า หรือทางใดๆที่จัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยๆไม่มีเหตุอันควร มาตรา 110ห้ามมิให้ผู้ใด ซื้อขาย แจกจ่าย เรี่ยไร ในทางเดินรถ หรืออกไปกลางทางโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือเป็นการกีดขวางทางจราจร ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ที่มีอัตราโทษน้อยมากมาก คงไม่มีใครกลัว
และ 3.พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 ซึ่งในปัจจุบันมีความครอบคลุมหลักๆเฉพาะพื้นที่ในเขตเทศบาล กรุงเทพ และพัทยา เท่านั้น และมาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใด (1) ปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้าบนถนน หรือในสถานสาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการห้ามหมดสำหรับการขายสินค้าทุกประเภท รวมถึงอาหารกับเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งไม่มีแอลกอฮอล์ด้วย และแม้แต่การตั้งวางหรือมีส่วนหนึ่งส่วนใดยื่นออกไปกีดขวางการจราจรก็จะผิดกฎหมายทั้งหมด ซึ่งถ้าใช้วิธีแบบดังเดิมนี้จะเปรียบเหมือนการผ่าดัดใหญ่ เปิดช่องอก ตัดกระดูกซี่โครง เพื่อเอาหนองออกซึ่งจะมีผลแทรกซ้อนมาก
ดังนั้นวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอจึงเป็นวิธีที่ตรงเป้าตรงประเด็นต่อการแก้ไขปัญหานี้มากที่สุด โดยมีผลแทรกซ้อนหรือกระทบกระเทือนผู้ค้าคนจนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นการออกอนุบัญญัติที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะ ไม่เหมารวมสินค้าทุกประเภทเหมือนกฎหมายเดิมทั้งสามฉบับและเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังดังนั้นตามหลักทั่วไปทางกฎหมายถ้ามีกฎหมายเฉพาะออกมาควบคุมสินค้าชนิดนั้นๆแล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะที่ออกมาภายหลัง ซึ่งจะเห็นว่าไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิมแต่อย่างใดเหมือนกับเดิมยังไม่มีพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางป้ายโฆษณาก็ใช้กฎกระทรวงที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคต่อสินค้าทั่วๆไปทักประเภท แต่พอมี พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้อำนาจตามกฎหมายใหม่ที่เป็นกฎหมายเฉพาะและออกมาภายหลัง
***************** 19 ธันวาคม 2555