รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมเตรียมความพร้อมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมเปิดจดทะเบียนสิทธิในตำรับยาและตำราของหมอพื้นบ้านกว่า 50,000 คน รวมทั้งผู้ครอบครองภูมิปัญญาฯ ทั่วไทย  เพื่อคุ้มครองเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ป้องกันต่างชาตินำไปครอบครอง เริ่มตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป ผลดีของการรับจดทะเบียนสิทธิครั้งนี้ จะทำให้ตำราไทยไม่สูญหาย และใช้ประโยชน์ชั่วลูกหลาน

เช้าวันนี้ (20 ธันวาคม 2555) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนักวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยจากส่วนกลางภูมิภาคจำนวน 250 คน  เพื่อชี้แจงแนวนโยบายในการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นำการแพทย์แผนไทย ยาสมุนไพรไทยมาใช้ในระบบบริการสุขภาพ และเป็นหนึ่งในบริการต่างชาติตามนโยบายศูนย์กลางบริการการแพทย์นานาชาติ   หรือเมดิคัลฮับ ซึ่งประเทศไทย มีจุดเด่นเนื่องจากมีหมอพื้นบ้านจำนวนมาก ประมาณ 50,000คนทั่วประเทศ ซึ่งมีองค์ความรู้ที่ได้จากการสืบทอดจากบรรพบุรุษ และยังมีหมอแผนไทยที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ  อีกจำนวนมาก มั่นใจว่า บริการด้านการแพทย์ของประเทศไทยจะไม่เป็นรองใคร

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาการแพทย์แผนไทย 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้ได้ร้อยละ 14 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด 2.พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ทำจากสมุนไพรระดับ 5 ดาวต้นแบบ ขณะนี้คิดไว้ 5 รายการ ได้แก่ กวาวเครือขาว ไพล กระชายดำ บัวบก และว่านชักมดลูก เพื่อเป็นสมุนไพรเด่นของชาติที่น่าใช้ไม่แพ้ชาติอื่น และ3.การจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล เพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาไทยให้เป็นระบบแบบแผนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่พฤษภาคม 2543 เป็นต้นมา ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประคมเศรษฐกิจอาเซียน 

ทั้งนี้ การจดทะเบียนสิทธิครั้งนี้ จะเป็นการคุ้มครองภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านและผู้ครอบครองฯ หรือผู้ที่มีภูมิปัญญาฯของไทย ซึ่งผ่านกระบวนการทดสอบ และทดลองการใช้ประโยชน์โดยประชาชนในท้องถิ่นมาแล้วจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่งจึงขอให้หมอพื้นบ้านนำตำรายาหรือตำราการแพทย์ที่มีอยู่ ไปขึ้นทะเบียนเพื่อไม่ให้สูญหาย สามารถนำใช้ประโยชน์ได้ชั่วลูกหลาน ถือเป็นผู้ทรงสิทธิในตำรับยา ตำราแพทย์แผนไทย ป้องกันต่างชาตินำไปครอบครอง หรือหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจทำให้คนไทยต้องเสียเงินซื้อหรือนำเข้าในราคาแพง จะเริ่มเปิดให้จดทะเบียนสิทธิตั้งแต่มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามมาตรา 16 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไทย พ.ศ.2542 แบ่งประเภทภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไทยเป็น 3ประเภท คือ 1.ตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ 2.ตำรับยาแผนไทยทั่วไปหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป และ3.ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคลหรือตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล ขณะนี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ได้มีการสำรวจ รวบรวม เป็นทะเบียนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในแต่ละจังหวัด ซึ่งตำรับยา และตำราการแพทย์แผนไทยของหมอพื้นบ้านถือเป็นประเภทส่วนบุคคล สามารถขอจดทะเบียนสิทธิ   ผู้ที่ยื่นขอจดทะเบียนจะต้องมีสัญชาติไทย และต้องเป็นผู้คิดค้น ผู้ปรับปรุง พัฒนา หรือผู้สืบทอดตำรับยาหรือตำราการแพทย์แผนไทย แต่จะต้องไม่เป็นตำรับยาหรือตำราการแพทย์แผนไทยที่เป็นของชาติ และขั้นตอนการปรุงจะต้องใช้หลักการแพทย์แผนไทยและสารดั้งเดิมตามธรรมชาติ เมื่อได้รับการจดทะเบียนสิทธิแล้ว จะเป็นผู้ทรงสิทธิในภูมิปัญญาฯ ของตน ผู้อื่นจะมาจดทะเบียนสิทธิซ้ำไม่ได้

*****************************  20 ธันวาคม 2555



   
   


View 12    20/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ