ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนป่วยโรคอุจจาระร่วง ช่วงวันฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แนะยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เมนูอาหารจัดเลี้ยงต้องปรุงให้สุก ร้อน  สะอาด โดยเฉพาะประเภทยำ ลาบ อาหารทะเล ส่วนผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหากจะแวะรับประทานอาหาร ให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย     

          นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประชาชนนิยมซื้ออาหารมาปรุงเอง สั่งซื้อจากร้านอาหารมาเฉลิมฉลอง หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เพื่อให้มีความสุขกันอย่างถ้วนทั่วและป้องกันโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำไม่สะอาด โดยเฉพาะ 3 โรคที่มีโอกาสพบได้บ่อย ได้แก่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ และอหิวาตกโรค กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้ กลุ่มผู้ประกอบการปรุงอาหาร หรือพ่อครัว แม่ครัว ต้องปรุงให้สุกทั่วถึง ร้อน และสะอาด อาหารที่เหลือเก็บต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเสิร์ฟทุกครั้ง ผักผลไม้ ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะเช่น มีด เขียง ระหว่างวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด   ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลางและล้างมือบ่อยก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ส้วม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดิบๆสุกๆ  เช่น ลาบ ก้อย โดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งย่างที่นิยมจัดเลี้ยงเช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ขอให้ปิ้งให้สุกก่อน ส่วนผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหากจะแวะรับประทานอาหารให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย    

           ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมนูที่มักจะเป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงที่พบได้บ่อย 10 เมนู  ได้แก่ 1.ลาบ ก้อยดิบ เช่นลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2.ย้ำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4. ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมาก เช่นอาหารกล่องแจกนักท่องเที่ยว 5.อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ 10.น้ำแข็ง อาหารที่ปรุงเลี้ยงจำนวนมากจะต้องปรุงล่วงหน้าไม่เกิน 4 ชั่วโมง อาหารประเภทอาหารถุง อาหารกล่อง หรืออาหารห่อพร้อมบริโภค ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดนิยม ให้ระวังเป็นพิเศษ  เพราะวัตถุดิบหลายอย่างที่นำมาปรุงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง อาทิ ปลาร้า  ปูดองดิบหรือต้มไม่สุกปูทะเล มะละกอดิบ ผักดิบ พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้าง  รวมทั้งตัวแม่ค้าที่ไม่ใส่ใจความสะอาดและขาดสุขนิสัยที่ดี อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ 

          ทั้งนี้ ข้อมูลสำนักระบาด ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2555-16 ธันวาคม 2555 พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 112,083 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคอุจจาระร่วง 1,172,705 ราย เสียชีวิต 39 ราย หากประชาชนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร จะมีอาการได้แก่ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีไข้ได้ การดูแลเบื้องต้นอาจดื่มผงละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในร้ายขายยาทั่วไป  หรืออาจปรุงดื่มเองโดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี. ผสมน้ำตาลทาย 2 ช้อนโต๊ะและเกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็น และดื่มแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน 

***********************************  31 ธันวาคม 2555



   
   


View 13    31/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ