รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คาดสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้จะรุนแรงกว่าปี 2555 ที่ป่วยจำนวน 74,250 ราย เสียชีวิต 79 ราย พบได้ตลอดปี  ระบุผู้ใหญ่ตกเป็นเหยื่อมากขึ้น ย้ำเตือนอย่าชะล่าใจ หรือคิดว่า            ไม่รุนแรง ต้องพบแพทย์ พร้อมสั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเร่งควบคุมป้องกันตั้งแต่ต้นปี                 ไม่ต้องรอถึงหน้าฝน และตั้งวอร์รูมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เร่งอบรมฟื้นฟูวิชาการให้แพทย์อายุรกรรมรักษาผู้ใหญ่  ให้ อสม.ให้ความรู้สร้างความตระหนักประชาชนในพื้นที่ สร้างหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออกเพื่อลดการเสียชีวิต                  ให้ได้มากที่สุด      

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่ามีความเป็นห่วงใยสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก แม้ว่าขณะนี้จะไม่ใช่ช่วงฤดูฝน แต่สถานการณ์ของประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยโรคนี้อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยตลอดปี 2555  ของกรมควบคุมโรค พบว่าไทย           มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 74,250 ราย  คิดเป็นอัตราป่วย 116 ต่อประชากร 1 แสนคน  เสียชีวิตมี 79 ราย         คิดเป็นอัตราการตาย 0.12 ต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกจังหวัด หากแยกเป็นรายภาค ภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 30,562 ราย เสียชีวิต 30 ราย และหากแยกเป็นจังหวัดพบผู้ป่วยมากที่สุดที่กรุงเทพคือ 9,569 ราย เสียชีวิต 10 ราย ทั้งนี้หากเทียบกับปี 2554 ที่มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 68,386 ราย เสียชีวิต 62 ราย จะพบว่าปี 2555 มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปี 2556 นี้สถานการณ์การระบาดอาจจะมากขึ้น               จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตั้งแต่ต้นปี ไม่ต้องรอถึงหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงระบาด เนื่องจากโรคนี้พบได้ตลอดปีทั้งฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต                    ของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้จับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากประชาชนจะมีการเก็บกักน้ำสะอาดในภาชนะต่างๆ เพื่อไว้ใช้ และส่วนใหญ่จะไม่มีฝาปิด    

ด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไข้เลือดออกมักจะพบในผู้ป่วยกลุ่มเด็ก แต่ปัจจุบันสามารถเกิดได้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย และมีแนวโน้มพบในผู้ใหญ่มากขึ้นในปี 2555 พบผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยประมาณร้อยละ 52.44 ของผู้ป่วยทั้งหมด และประชาชนมักเข้าใจผิดว่าอาการของไข้เลือดออกในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรง จึงชะล่าใจไม่ไปพบแพทย์ โดยจะซื้อยากินเอง ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าหรือไม่ทันการณ์ จนทำให้เกิดการเสียชีวิต ส่วนเด็กที่ป่วยหรือมีไข้สูงผู้ปกครองมักจะรีบพาไปพบแพทย์ ทั้งนี้อาการป่วยไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ที่แพทย์พบส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างจากเด็กมากนัก แต่ในผู้ใหญ่มักจะไม่มีจุดเลือดออกสีแดงใต้ผิวหนัง และที่น่าห่วงคือหากเกิดไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือผู้สูงอายุ  จะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากจะต้องดูทั้งผลที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกและโรคประจำตัวด้วย  จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

มาตรการการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อเฝ้าระวังประเมินและติดตามสถานการณ์ของโรคดังกล่าวรวมทั้งโรคติดต่ออื่นๆ ที่เป็นปัญหาจากทั่วประเทศด้วยเช่น โรคคอตีบ ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โดยต้องประสานการทำงานใกล้ชิดกับ กทม. ส่วนในด้านการรักษาได้มอบให้กรมการแพทย์จัดอบรมฟื้นฟูความรู้ให้แก่กุมารแพทย์ที่รักษาโรคในเด็ก และแพทย์อายุรกรรมที่รักษาผู้ใหญ่            

 ขณะเดียวกันได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดอบรมฟื้นฟูความรู้ความเข้าใจให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. และเป็นกำลังหลักในชุมชนและหมู่บ้าน ในการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก และร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านและรอบๆบ้านทั้งชุมชน เพื่อที่จะทำให้เป็นหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออกให้ได้ รวมทั้งให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจโรคไข้เลือดออกให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา

สำหรับสาเหตุของโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดมาจากยุงลายบ้านกัด รองลงมาคือยุงลายสวน   อาการผู้ป่วยไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลันติดต่อกันตั้งแต่ 2-7 วันขึ้นไป หน้ามักจะแดง อ่อนเพลีย    มีเลือดออกตามผิวหนังหรือเลือดกำเดาไหล จะไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูกหากไม่ได้เป็นโรคไข้หวัดไปพร้อมกัน            ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ในการป้องกันตนเองจากการถูกยุงลายกัดขอให้ประชาชนนอนในมุ้งทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะยุงลายชอบกัดคนในเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน สวมใส่เสื้อแขนยาวใส่กางเกงขายาว และควรใช้เสื้อผ้าสีอ่อนๆ ตัวเสื้อและกางเกงจะต้องไม่รัดรูป เพื่อไม่ให้ยุงกัดง่ายขึ้น     

***************************** 6 ธันวาคม 2556

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



   
   


View 10    06/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ