องค์กรยูเอ็นเอดส์ เชิญนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย เป็นประธานกรรมการบริหาร โดยมีวาระหนึ่งปี และจะเริ่มทำหน้าที่ในปลายเดือนมิถุนายน 2550 นี้ ภารกิจหลักคือการกำหนดทิศทางและนโยบายแก้ไขปัญหาเอดส์ระดับโลก เหตุเพราะผลงานเอดส์ของไทยโดดเด่นเข้าตานานาชาติ ทั้งเรื่องการป้องกันและความสำเร็จของนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์อย่างถ้วนหน้า นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพบและหารือกับนายแพทย์ปีเตอร์ ปิอ็อต (Dr.Peter Piot) ผู้อำนวยการองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ว่า ได้ตอบรับคำเชิญของนายแพทย์ปีเตอร์ ที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย รับหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารขององค์กรยูเอ็นเอดส์ ต่อจากรัฐมนตรีสาธารณสุขสวีเดน โดยมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 1 ปี ซึ่งการทำหน้าที่นี้จะสลับกันระหว่างประเทศที่พัฒนากับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม ขององค์การสหประชาชาติ จะพิจารณาเป็นปีๆ ไปตามความเหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ นายแพทย์ปีเตอร์ เป็นผู้ให้การสนับสนุนการทำซีแอลของประเทศไทยอย่างเต็มที่ โดยได้ทำหนังสือแสดงการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้อำนวยการองค์กรเอดส์แห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2549 สำหรับคณะกรรมการบริหารองค์กรยูเอ็นเอดส์ ประกอบด้วยสมาชิก 37 คน จากประเทศสมาชิกต่างๆ 22 ประเทศ องค์กรของสหประชาชาติ 10 แห่ง และองค์กรภาคประชาสังคมอีก 5 แห่ง คณะกรรมการมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย จะเริ่มทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป ขณะนี้ได้จัดเตรียมทีมงานสนับสนุน ประกอบด้วย นักวิชการกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานทูตถาวรประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา และมี ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไกรย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ และเคยทำงานกับองค์กรนี้มาก่อน ร่วมให้การสนับสนุนด้วย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า การที่ไทยได้รับเชิญให้เป็นประธานกรรมการบริหารองค์กรยูเอ็นเอดส์ ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งของประเทศไทย ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดดเด่นในสายตาของนานาชาติมากขึ้น เนื่องจากผลงานการทำงานแก้ไขปัญหาเอดส์ของไทย เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ทั้งเรื่องการป้องกัน การเข้าถึงยาของผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งไทยจัดเป็น 1 ใน 2 ของประเทศกำลังพัฒนา คู่กับประเทศบราซิล ที่ได้ประกาศนโยบายการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์อย่างถ้วนหน้า และสามารถปฏิบัติได้จริง รวมถึงการประกาศใช้สิทธิ์โดยรัฐต่อสิทธิบัตรยาหรือซีแอล ยาต้านไวรัสเอดส์ทั้ง 2 ประเทศ นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการบริหารองค์กรยูเอ็นเอดส์ ถือว่าอยู่ในระดับของผู้กำหนดทิศทางแก้ไขปัญหาเอดส์ทั่วโลก และปฏิรูปองค์กรให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 40 ล้านคน ร้อยละ 95 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา สาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยป้องกันเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ในขณะที่ไทยมีอัตราการใช้เฉลี่ยร้อยละ 87 จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้เผยแพร่โครงการถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไทย ประสบผลสำเร็จมาก่อนสู่ประเทศอื่นๆ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงของประชาชนให้มากที่สุด และถุงยางอนามัยยังเป็นเครื่องมือที่มีราคาถูกมาก และให้ประสิทธิภาพการป้องกันสูง -2- สำหรับองค์กรยูเอ็นเอดส์ เป็นองค์กรที่องค์การสหประชาชาติตั้งขึ้น เพื่อดำเนินการด้านโรคเอดส์ทั่วโลกโดยเฉพาะ มีองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ยูเนสโก ยูเอ็นเอฟพีเอ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ร่วมด้วย ทำหน้าที่สนับสนุนด้านวิชาการและด้านข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการผลักดันนโยบายด้านการควบคุมและแก้ปัญหาเอดส์แก่ทุกประเทศทั่วโลก โดยมีงบประมาณราย 2 ปี ประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยได้บริจาคเงินด้วยประมาณ 5 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อปี หรือประมาณ 2 ล้านบาท โดยองค์กรยูเอ็นเอดส์มีสาขากระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร


   
   


View 13    20/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ