รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โชว์ผลงาน 10 ปีหลักประกันสุขภาพประสบผลสำเร็จ ในที่ประชุมรัฐมนตรีโต๊ะกลม ที่องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด ทำให้ประชาชนไทยได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง พ้นจากความลำบาก สามารถดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี การพัฒนาในทศวรรษนี้จะเน้นเพิ่มคุณภาพ สร้างความยั่งยืน และพร้อมให้การสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้าน
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2556 )นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับจากการประชุมโต๊ะกลม เรื่อง การสร้างหลักประกันสุขภาพ ที่องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัด เพื่อกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ หันมาสนใจระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีระดับรัฐมนตรีจาก 30 ประเทศเข้าร่วมประชุม ที่ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่าประเทศไทยดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาครบ 10 ปี ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้มาก ลดความยากจน ถือว่าประสบความสำเร็จทั้งในด้านปริมาณ คือ ความครอบคลุมในการสร้างหลักประกันสุขภาพ และด้านคุณภาพบริการ ในทศวรรษต่อไปจะเน้นการเพิ่มคุณภาพให้มากขึ้น และให้เกิดความยั่งยืน
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวว่า จากประสบการณ์ดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีความคาดหวังสูงแต่ในความเป็นจริงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ประชาชนทุกคนพ้นความลำบาก ยากจน สามารถดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี โดยระบบของประเทศไทยต่างจากประเทศอื่นที่มีระบบการเก็บเงิน แต่ของไทยเป็นบริการฟรี การจ่ายค่าบริการ 30 บาทเป็นไปตามความสมัครใจของผู้รับบริการ และให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนทุกคน เป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ประเทศอื่นจะดูแลเฉพาะคนจน คนไทยทุกคนมีสิทธิอย่างมีศักดิ์ศรี แตกต่างจากที่ประเทศอื่นทำ
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำเป็นต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 เรื่องได้แก่ 1.การควบคุมระบบงบประมาณ ที่คำนึงถึงรายจ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายมาจากภาษีทั้งหมด เพื่อคุ้มครองฐานะการเงินการคลังของประเทศ ไม่ให้มีปัญหาจากระบบหลักประกันสุขภาพ 2.การพัฒนาทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในทุกระบบร่วมกัน ลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็นลง เน้นการรักษาสมดุล ระหว่างคุณภาพและปริมาณ เพื่อให้การใช้เงินเป็นไปอย่างเหมาะสม มีงบประมาณเหลือเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นได้ 3.การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Authority Board) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพด้านต่างๆ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ และอื่นๆ เนื่องจากการทำงานเรื่องหลักประกันสุขภาพจากนี้ไป จะมีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เน้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสุขภาพประชาชนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า คนไทยต้องมีอายุยืนขึ้นเฉลี่ย 80 ปี ภายใน 10 ปี
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่ออีกว่า ประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ในอนาคตคาดว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม จะมีการขับเคลื่อนไปสู่ระบบหลักประกันสุขภาพเช่นกัน
กุมภาพันธ์ 4/6 ************ 20 กุมภาพันธ์ 2556