“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาระบบเครือข่ายบริการสุขภาพในระดับอำเภอ (District Health System: DHS) โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ตัวแทนจากเครือข่ายพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชนในภาคกลางเข้าร่วมประชุมจำนวน 500 คน และให้สัมภาษณ์ว่า ในการพัฒนาระบบการสาธารณสุขของประเทศไทยให้สำเร็จ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี อายุยืนถึง 80 ปี จะต้องอาศัยกลไกทางการเงินการคลัง ควบคู่กับการบริหารจัดการ
ทั้งเรื่องกำลังคน การปรับโครงสร้างการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ สามารถนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับกลไกการทำงาน โดยแบ่งเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ และให้แต่ละเขตบริการฯจัดทำแผนพัฒนาบริการหรือเซอร์วิส แพลน ( Service plan) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดบริการประชาชนที่รับผิดชอบร่วมกัน ตั้งแต่ระดับเขตคือหลายๆจังหวัดใช้ร่วมกัน ระดับจังหวัดซึ่งใช้บริการร่วมกันของอำเภอในพื้นที่ และระดับอำเภอเชื่อมโยงลงไปถึงตำบลหมู่บ้านชุมชนต่างๆ เชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ซึ่งจะเกิดเป็นระบบที่ยั่งยืน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับระบบสุขภาพระดับอำเภอ ได้กำหนดเป็นบันได 5 ขั้น ได้แก่ 1.การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ 2.การทำงานจนเกิดคุณค่าทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ 3.การแบ่งปันทรัพยากรและการพัฒนาบุคลากร 4.การให้บริการสุขภาพตามบริบทที่จำเป็น และ5.การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชน โดยได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ร่วมกันทบทวนและปรับบทบาทของสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพ.สต.) รวมทั้งบทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนและวิธีการทำงานอย่างที่ควรจะเป็น ให้ปรับระบบการรายงานข้อมูลต่างๆให้กระชับยิ่งขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาออกไปดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่แบบเชิงรุก สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลที่เน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดโรคดีกว่ามารักษาเมื่อป่วยแล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้จริงในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 นี้
“มั่นใจว่า ระบบบริการสุขภาพอำเภอ จะเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาสุขภาพทั้งระบบ โดยมีโรงพยาบาลชุมชนเป็นจุดเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ระหว่างงานรักษาพยาบาลกับงานสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในอนาคต โดยจะมี 3 ส่วน คือ1. ด้านผู้ซื้อบริการซึ่งเป็นเรื่องระบบการเงินของ 4 กองทุนสุขภาพภาครัฐ 2.ด้านการจัดบริการ และ3. การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่ง 2 ประการหลังนี้เป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข ประชาชนทุกคนจะได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพมาตรฐานเหมือนกันทุกที่” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
**************************************** 21 กุมภาพันธ์ 2556