กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือน 6 โรคที่มากับฤดูร้อน ภัยแล้ง ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งควบคุมมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง  ความสะอาดตลาดสด ร้านอาหารแผงลอย ห้องครัว และส้วม เฝ้าระวังผู้ป่วย คาดสถานการณ์ปีนี้ผู้ป่วยอาจมีจำนวนมากจากภัยแล้ง เผยในรอบเกือบ 2 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยจาก 6โรคนี้กว่า 1 แสนราย พบโรคอุจจาระร่วงอันดับ 1 ไม่มีผู้เสียชีวิต

          นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นระยะเวลาที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งนี้ จะเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลายชนิด พื้นที่ประสบภัยแล้งบางแห่งอาจเกิดการระบาดของโรคติดต่อได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่องการป้องกันโรคที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน จำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด โรคอหิวาตกโรค ไทฟอยด์ และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอซึ่งปีนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มจะสูงขึ้นจากภัยแล้ง เพราะน้ำสะอาดอาจหาได้ยากขึ้นและให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลเรื่องคุณภาพน้ำและแหล่งน้ำ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ในการดูแลสุขภาพตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว     
 
          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า   ในการป้องกันโรคหน้าร้อนตั้งแต่เนิ่นๆได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ 4เรื่อง ได้แก่ 1.เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากพบมีผู้ป่วยเกิดขึ้นให้รีบดำเนินการควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที2.ให้ดูแลควบคุมมาตรฐานน้ำประปาโรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงานผลิตน้ำแข็งซึ่งในฤดูร้อนยอดการบริโภคน้ำแข็งน้ำดื่มจะสูงขึ้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ 3.ดูแลกวดขันความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และตลาดสดขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดส้วมสาธารณะต่างๆเช่นที่ปั้มน้ำมันเป็นต้น และ4.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักอาการของโรคการปฏิบัติตัวที่จะไม่ให้ป่วย และขอความร่วมมือให้การดูแลความสะอาดห้องส้วมห้องครัว
 
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำเป็นโรคที่พบบ่อยรองจากไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเชื้อชนิดนี้ฟักตัวได้ดีในสภาพอากาศร้อนจัดเป็นโรคที่พบประจำในประเทศเขตร้อน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ในช่วงเกือบ 2 เดือนแรกของปี 2556นี้ มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 6โรค รวม 146,452  ราย ไม่มีเสียชีวิต โรคที่พบมากอันดับ 1ได้แก่โรคอุจจาระร่วง 128,855 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 28 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1ปีและผู้สูงอายุ 65ปีขึ้นไป รองลงมาคือโรคอาหารเป็นพิษ 15,965ราย โรคบิด 1,197ราย และโรคตับอักเสบจากไวรัสทางเดินอาหารชนิดเอจำนวน 43 ราย ส่วนโรคอหิวาตกโรคยังไม่มีรายงานผู้ป่วย
 
 นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ประสานงานกับเทศบาล/องค์การบริหารส่วนตำบลดูแลเรื่องคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีปริมาณสารคลอรีนตกค้างตามเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำขอให้ประชาชนดูแลความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะกำจัดขยะมูลฝอย แยกเขียงและมีดหั่นอาหารดิบกับอาหารสุก  และให้ยึดหลักปฏิบัติ คือ 1.กินร้อนโดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสนิทและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน 2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น และ3.ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากใช้ห้องส้วมและก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง                     
                     
 ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำแม้ว่าจะมีสาเหตุเกิดโรคต่างกันแต่การติดต่อคล้ายคลึงกันคือเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป      เช่นอาหารปรุงสุกๆดิบๆ เช่นลาบ ก้อย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอมหรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ โดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวข้างต้น สามารถแพร่เชื้อได้ทางอุจจาระ และติดมากับมือ  หากเป็นผู้ปรุงอาหารหรือเสิร์ฟอาหารจะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มาก
 
 นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่าผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างในร่างกายจะมีอันตรายรุนแรงขึ้น ขอให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเหลวมากๆและดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอสแทนน้ำ โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1ซองผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1แก้ว ประมาณ 250ซี.ซี.หากไม่มีผงเกลือแร่สำเร็จ ก็สามารถปรุงเองได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2ช้อนโต๊ะเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1ขวดน้ำปลากลมให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ เพื่อทดแทนเสียน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับน้ำอุจจาระควรดื่มสารละลายเกลือแร่ที่ผสมแล้วให้หมดภายใน 1วัน ถ้าเหลือให้ทิ้งแล้วผสมใหม่วันต่อวัน หลังดื่มแล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น แต่หากยังไม่หยุดถ่ายและมีอาการมากขึ้นเช่นอาเจียนมากขึ้น อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเน่าคล้ายหัวกุ้งเน่า ปวดบิดมีไข้สูงขึ้นหรือชัก ควรพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 
 
*************************     24 กุมภาพันธ์ 2556
 


   
   


View 16    24/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ