ที่โรงพยาบาลราชบุรี  นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช. และนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเขต ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5ประชุมสรุปแผนการดำเนินงานการจัดระบบการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของเขตสุขภาพที่ 5 ปีงบประมาณ 2556ซึ่งประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี ประชากรรวมกว่า  5ล้านคน ระหว่างเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการการจัดบริการประชาชน กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการของประชาชนภายใต้กองทุนสุขภาพ 4 กองทุน      

นายคณิศกล่าวว่า ในรอบ 10 ปี มานี้ ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติและอีกหลายประเทศว่าประสบผลสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพประชาชน ทำให้ระบบการสาธารณสุขดีขึ้น และน่าจะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยทิศทางการพัฒนาในช่วงต่อไป จะต้องเน้นให้เกิดความมั่งคงทางสุขภาพแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีการปรับโครงสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นผู้จัดบริการรายใหญ่ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพในฐานะเป็นผู้ซื้อบริการ โดยระบบการเงินการคลังสุขภาพในอนาคตจะมีการกำหนดบริการขั้นพื้นฐานของแต่ละกองทุนทั้ง 4 กองทุน คือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือโครงการ 30 บาท ประกันสังคม สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งต่างด้าว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบดีขึ้น ซึ่งปีนี้เน้นหนักการบริหารร่วมในการจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค พร้อมกันทั่วประเทศ โดยให้องค์กรท้องถิ่นร่วมจัดบริการด้วย 
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการปรับโครงสร้างระบบการบริหารจัดการสุขภาพ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดแบ่งเป็นเขตสุขภาพทั้งหมด12 เขต บริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการเขตซึ่งมีเขตละ 4-8 จังหวัด แต่ละเขตต้องวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย 3 สาขาหลัก ได้แก่ 1.การป้องกันส่งเสริมสุขภาพเช่น การดูแลสุขภาพกลุ่มสตรี ทารก เด็กกลุ่มต่ำกว่า 2 ขวบ อายุ 3-5 ปี สุขภาพเด็กวัยรุ่น 2.การบริการผู้เจ็บป่วย เช่นระบบการส่งต่อผู้ป่วยภายในเขต การแพทย์ฉุกเฉิน และ3.การบริหารจัดการ เช่นเรื่องกำลังคน การเงิน การคลัง เหมือนกันทุกเขต       
 ในส่วนที่จะบริหารจัดการร่วมกับสปสช. คือการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแผนระดับประเทศทั้งหมด 25 แผนงาน เช่นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พัฒนาการเด็ก ทันตสุขภาพ การลดโรคเรื้อรัง การพัฒนาบริการ เขตจะต้องวิเคราะห์สภาพปัญหาของประชาชนแต่ละกลุ่ม และร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โดยสปสช.จะเป็นฝ่ายจัดสรรงบประมาณให้ และมีการประเมินผลที่เชื่อถือได้โดยทีมวิชาการอื่นๆ ระบบนี้จะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลถึงระดับรายบุคคลตามสิทธิที่พึงได้มากขึ้น โดยจะมีการลงนามความร่วมมือในเร็วๆนี้               
******************* 27 กุมภาพันธ์ 2556


   
   


View 9    27/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ