กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิอยู่ใกล้บ้านใกล้ใจประชาชนทุกพื้นที่ 10,174 แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลประจำ ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วๆ ไปที่อาการไม่รุนแรง และดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อเนื่อง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยมีศูนย์สุขภาพชุมชนบริการในเขตเมือง 226 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในชนบท 9,750 แห่ง และศูนย์สาธารณสุขชุมชน 198 แห่งในพื้นที่สูง ทุรกันดาร ชี้ผลดีจะช่วยลดความแออัด ลดรายจ่ายค่าเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ของประชาชนลงได้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท 

            วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการมหกรรมสุขภาพดี 50 ปี ที่โรงพยาบาลสุโขทัย ในโอกาสก้าวสู่ 5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาคุณภาพ และเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง สาขาบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสุโขทัย ตั้งอยู่ใกล้ศาลพระแม่ย่า  เทศบาลเมืองสุโขทัย และให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาระบบบริการทุกระดับทั้งเขตเมืองและชนบทให้เพียงพอ ทั้งด้านจำนวนสถานที่ บุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยจัดทำแผนการจัดระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปีงบประมาณ 2555-2559 เน้นพัฒนา 3 ระดับคือ ระดับพื้นฐานหรือปฐมภูมิในชุมชนเมือง ชุมชนหนาแน่น ระดับความเชี่ยวชาญระดับสูง และระดับเครือข่ายบริการร่วมกัน โดยนำระบบการบริหารแบบเขตสุขภาพมาใช้ รวมทั้งหมด 12 เขตทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชนได้รับบริการใกล้บ้าน มาตรฐานเดียวกันทุกพื้นที่  

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า สำหรับระดับบริการปฐมภูมิจัดว่ามีความสำคัญต่อระบบการสาธารณสุขมาก งานจะเน้นหนักการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ลดการเจ็บป่วยประชาชนทุกกลุ่มวัย และตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไป ที่อาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะสามารถลดความแออัด ลดรายจ่ายค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของประชาชนลงได้ปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาสถานบริการระดับนี้ 10,174 แห่ง กระจาย 3 พื้นที่ คือชุมชนเมือง ชุมชนหนาแน่นในเขตอำเภอเมือง  ได้ตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน  226 แห่ง  ในเขตชนบทมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่ง ในพื้นที่สูง ป่าเขา ทุรกันดาร มีศูนย์สาธารณสุขชุมชน 198 แห่ง ให้บริการใกล้บ้าน ใกล้ใจ เป็นการเพิ่มจุดตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการไม่รุนแรง มีบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย ทันตาภิบาล ทั้งอยู่ประจำและหมุนเวียนออกไปให้บริการ มีอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และใช้ระบบไอทีเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลใหญ่  

           ทางด้านนายแพทย์ศิวฤทธิ์  รัศมีจันทร์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมืองเครือข่ายของโรงพยาบาลสุโขทัย ที่เปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกในวันนี้เป็นแห่งที่ 3 ดูแลประชาชนในเขตเทศบาลเมือง โดยใช้อาคารหลังเก่าของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย บริเวณริมแม่น้ำยม เป็นที่ทำการ   ที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์บริการดังกล่าวแล้ว 2 แห่ง คือศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองเก่า ดูแลประชาชนในตำบลเมืองเก่าอุทยานประวัติศาสตร์และนักท่องเที่ยว 2.ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านสวน ดูแลประชาชนในตำบลบ้านสวน ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป โรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง บริการทันตกรรม แพทย์แผนไทย เอ็กซเรย์ ตรวจเลือด  ตรวจปัสสาวะ มีแพทย์ ทันตแพทย์  พยาบาล ทันตาภิบาล แพทย์แผนไทย เปิดให้บริการทุกวันในเวลาราชการ ผู้ป่วยเฉลี่ยวันละ 100 คนต่อแห่ง  สามารถลดจำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสุโขทัยจากที่มีวันละ 1,000 รายเหลือประมาณ 700 ราย  คิวรอตรวจสั้นลง

                        ************************************  28 กุมภาพันธ์ 2556



   
   


View 10    28/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ