กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองระวังอันตราย 90 วัน ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ระวังเด็กจมน้ำตายเพราะลงเล่นน้ำดับร้อน เผยสถิติพบเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,352 คน หรือเกือบวันละ 4 คน เป็นต้นเหตุการณ์เสียชีวิตอันดับ 1 และผลสำรวจพบว่าเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีจำนวน 13 ล้านคน พบ 11 ล้านคนว่ายน้ำไม่เป็น ชี้หากว่ายน้ำเป็น จะมีโอกาสรอดชีวิตได้ถึง 4 เท่าตัว
บ่ายวันนี้(2 มีนาคม 2556) ที่ลานกิจกรรมศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดงานวันรณรงค์ “ป้องกันเด็กจมน้ำ”ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดป้องกันปัญหาเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วมาก และผู้ที่จมน้ำ มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 4 นาที
นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ในภาพรวมทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานว่าการตกน้ำ จมน้ำเป็นสาเหตุนำการเสียชีวิตติด 10 อันดับแรกในกลุ่มเด็ก แต่ละปีมีรายงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ 135,585 ราย เฉลี่ยวันละ 372 ราย ส่วนในไทยพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับทุกสาเหตุ มากกว่าอุบัติเหตุจราจร 2 เท่าตัว มากกว่าไข้เลือดออก 24 เท่าตัว ในปี 2555 มีรายงานเสียชีวิตรวม 1,049 ราย เฉลี่ยวันละ 3 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาย และยังพบว่ามีเด็กอายุ ต่ำว่า 7 ปี ดื่มแอลกอฮอล์เล่นน้ำและจมน้ำได้รับบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งสถิติลดลงกว่าช่วงปี 2551 ซึ่งเสียชีวิตปีละ 1,352 รายเฉลี่ยวันละเกือบ 4 ราย เด็กที่ตกน้ำเกือบร้อยละ 50 จะเสียชีวิต เพราะว่ายน้ำไม่เป็น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กไทย โดยผลสำรวจล่าสุดในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีประมาณ 13 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 กล่าวได้ว่าขณะนี้เด็กไทยที่อยู่ในวัยนี้ ว่ายน้ำไม่เป็นมากถึง 11 ล้านคน โดยกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมาย ลดการเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้น้อยกว่า 900 คนภายในปี 2560
นายพสิษฐ์กล่าวต่อว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในขณะนี้ ซึ่งสภาพอากาศได้เปลี่ยนเป็นฤดูร้อน และเป็นช่วงปิดเทอมในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม ถือว่าเป็น 90 วันอันตรายที่มีความเสี่ยงเด็กจมน้ำตายสูงที่สุด เนื่องจากเด็กๆมักจะลงเล่นน้ำเพื่อคลายความร้อนในสภาวะอากาศร้อนอบอ้าว และมักลงเป็นกลุ่ม เมื่อมีรายหนึ่งจมน้ำ มักจะลงไปช่วยกัน แต่ช่วยไม่เป็น จึงมักจมน้ำตายด้วยกัน พบเป็นข่าวอยู่เสมอ ในปีที่ผ่านมาพบเพียง 3 เดือนนี้ มีเด็กเสียชีวิตรวม 361 ราย คิดเป็น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทั้งปี จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่เผลอเรอทิ้งเด็กเล็กไว้ตามลำพัง เช่น ขณะรับโทรศัพท์ ทำกับข้าว หรือเดินไปเปิด-ปิดประตูบ้านก็ตาม ไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ หรือไม่ปล่อยเด็กเล่นน้ำคนเดียว ไม่ให้ลงเล่นน้ำตอนกลางคืน เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งจัดอบรมสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตให้เด็กทั่วประเทศโดยเร็ว ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 35 จังหวัด
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีหนังสือสั่งการได้สั่งการให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศ จัดรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำในพื้นที่ ในวันเสาร์ที่ 2 มกราคม โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการจมน้ำของเด็ก การแจ้งเตือนภัยให้คนในชุมชนทราบถึงโอกาสเสี่ยง อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนปิดภาคเรียน โดยเน้นหนักในช่วงวันที่ 1-7 มีนาคม และให้ความรู้ประชาชน เรื่องการช่วยชีวิตคนจมน้ำเบื้องต้นที่ถูกวิธี นอกจากนี้ได้ขอความร่วมมือ อสม.ช่วยกันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำในแต่ละหมู่บ้านด้วย
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาเด็กจมน้ำในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน 3 เดือนปีที่ผ่านมา พบว่าเดือนเมษายน เพียงเดือนเดียว มีเด็กเสียชีวิต 174 ราย เฉลี่ยเกือบวันละ 6 คน ส่วนใหญ่เกิดในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ช่วงเกิดเหตุสูงสุดคือเวลาเที่ยงจนถึงเย็น พบอันดับ 1 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ แหล่งน้ำที่เด็กตกน้ำ จมน้ำมากที่สุดเกือบร้อยละ 50 คือ แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนองน้ำ บึง รองลงมาคือ สระว่ายน้ำ และอ่างเก็บน้ำ ส่วนในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ในปีที่ผ่านมาพบเสียชีวิต 372 ราย จุดเกิดอยู่ในบ้าน คือจะจมน้ำในถังน้ำ อ่างน้ำ กะละมังที่มีน้ำอยู่ เนื่องจากเด็กยังทรงตัวได้ไม่ดี ทำให้ล้มในท่าศีรษะทิ่มลง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้เสียชีวิต
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ประเด็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตมาก ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการช่วยเหลือเบื้องต้นผิดวิธี โดยประชาชนมักอุ้มเด็กพาดบ่าให้ศีรษะต่ำ เพราะเข้าใจว่าจะช่วยให้น้ำไหลออก ขอย้ำว่าการอุ้มเด็กจมน้ำในลักษณะนี้จะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานขึ้นน้ำที่ไหลออกจากปากเด็ก ไม่ใช่น้ำที่ออกมาจากปอด แต่เป็นน้ำที่อยู่ในกระเพาะที่เด็กกลืนลงไป การช่วยที่ถูกวิธีควรรีบเป่าปากและนวดหัวใจถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง หากคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจทันที ถ้าพบว่ายังหายใจเองได้หรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับผู้จมน้ำให้นอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยให้ความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก รีบส่งผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกรายที่ใกล้ที่สุด หากผู้ป่วยที่หมดสติ หยุดหายใจ ต้องผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง หรือโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ที่สายด่วน 1669 และขอแนะนำว่า ผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็น หากเดินทางทางเรือควรสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลา เมื่อพบคนตกน้ำต้องไม่กระโดดลงไปช่วย แต่ต้องหาอุปกรณ์ในการช่วย และตะโกนให้คนอื่นมา หรือท่องคาถาแห่งความปลอดภัย คือตำโกน โยน ยื่น
สำหรับ กิจกรรมวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ปี 2556ในปีนี้ เน้นกิจกรรม “เข้าถึง...คว้าถึง...หนูไม่จมน้ำ”สาธิตทักษะความปลอดภัยทางน้ำในสระว่ายน้ำเคลื่อนที่ขนาดเล็ก เปิดโอกาสให้เด็กฝึกทดลองทักษะฟรี การแข่งขันแสดงโชว์ (Role Play)ทักษะความปลอดภัยทางน้ำของเด็ก และนิทรรศการให้ความรู้มากมาย
******************************************** 2 มีนาคม 2556