“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา เผยภัยโรคต้อหินมีอันตรายถึงขึ้นตาบอดทั้ง 2 ข้าง คาดว่าคนไทย ทุกกลุ่มอายุ ป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัวกว่า 3 ล้านคน ทำให้ตาบอดแล้วกว่า 3 หมื่นคน เตือนผู้ที่อายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป เสี่ยงตาเป็นต้อหินอาจบอดได้ แนะตรวจตาเพื่อคัดกรองต้อหินก่อนจะสายเกินไป
นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) อ.สามพรานจ.นครปฐม และผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 10-16 มีนาคมทุกปี เป็นสัปดาห์วันต้อหินแห่งโลก ซึ่งเป็นโรคทางตาที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากตาต้อกระจกและทำให้ตาบอดหรือสายตาพิการอย่างถาวร หากเป็นแล้วจะรักษาให้เหมือนปกติไม่ได้ โดยคาดว่ามีผู้ที่เป็นโรคนี้ทุกกลุ่มอายุ ประมาณร้อยละ 6 ของประชากรหรือประมาณ 3,360,000 ราย
นายแพทย์ปานเนตรกล่าวต่อว่า โรคต้อหินเกิดจากความดันของน้ำหล่อเลี้ยงในลูกตาผิดปกติโดยน้ำหล่อเลี้ยงจะถูกสร้างขึ้นภายในลูกตาและลูกขับออกมาภายนอก การสร้างและการขับออกต้องสมดุลกัน ความดันลูกตาจึงจะเป็นปกติ แต่ถ้าลูกตาสร้างน้ำหล่อเลี้ยงออกมามาก หรือขับออกมาน้อยผิดปกติ จะทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น และเกิดการเสียสมดุลขั้วประสาทตาจะถูกทำลาย ส่งผลให้ลานสายตาผิดปกติ ความสามารถในการมองเห็นลดลง มักจะเกิดจากด้านข้างของลูกตามาก่อน มองเห็นภาพมัวที่ขอบแต่จะชัดตรงกลาง ต่อไปจะมัวลงทั้งหมดจะทำให้ตาบอดในที่สุด ต้อหินที่พบบ่อยที่สุดร้อยละ 60-70 คือ ชนิดที่มุมตาเปิด ชนิดนี้มักจะไม่มีอาการและไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นระยะแรก จะรู้ตัวเมื่อสายตาค่อยๆมัวลง มองด้านข้างไม่ค่อยเห็น คนป่วยจึงมาพบแพทย์คาดว่าจะมีผู้เป็นโรคต้อหินที่ยังไม้รู้ตัวว่าเป็นประมาณ 3 ล้านคน และชนิดที่พบได้อีกชนิดมุมตาปิด คาดว่ามีประมาณร้อยละ 30-40 จะเกิดในคนที่มีมุมตาค่อนข้างแคบ ทำให้ขวางกั้นการระบายน้ำในตา ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน จะมีอาการปวดตา ตาแดง ตามัว ปวดศีรษะอย่างรุนแรง บางรายมีอาการคลื่นใส้อาเจียน เห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ หากไม่รักษาภายใน 48 ชั่วโมงอาจทำให้ตาบอดได้
นายแพทย์ปานเนตรกล่าวต่อไปอีกว่า ในการป้องกันโรคต้อหิน แนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมาก ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับเลือดและหลอดเลือดซึ่งเลือดไหลเวียนขึ้นไปประสาทตาไม่ดี และผู้ที่ใช้ยาหยอดตาจำพวกสเตียรอยด์เอง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์ ควรได้รับการตรวจคัดกรองความดันลูกตา และตรวจขั้วประสาทตา อย่างน้อย 1 ครั้งที่อายุ 40 ปีขึ้นไป และอาจตรวจซ้ำเป็นระยะทุก 1-5 ปีตามคำแนะนำของแพทย์ หากผิดปกติ จะได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ประสาทตาเสื่อมมากขึ้น ซึ่งการรักษาโรคต้อหิน เป็นเพียงการระงับไม่ให้ประสาทตาถูกทำลายไปมากกว่าเดิมและไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ชัดเหมือนเดิมเหมือนกับการรักษาตาต้อกระจก
ทั้งนี้ การรักษาโรคต้อหินในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น การใช้ยาหยอดตา รับประทานยา ยิงแสงเลเซอร์ และการทำผ่าตัด แต่ละวิธีมีข้อจำกัดขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วยและประเภทของต้อหิน สำหรับกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วันต้อหินโลก ปี 2556 โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ จัดในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2556 วันเดียวที่ศูนย์ประชุมชั้น 4อาคารบริการของโรงพยาบาลฯ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้คำปรึกษา ถาม-ตอบปัญหาโรคห้อหิน ให้บริการตรวจคัดกรองโรคต้อหินด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฟรี หากพบจะได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์ปานเนตรกล่าวต่อไปว่า กลุ่มคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป นอกจากเสี่ยงเรื่องต้อหินแล้ว อายุนี้ยังเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนสรีระทางสายตา เข้าสู่ภาวะสายตายาว หรือที่เรียกว่าสายตาคนแก่ ทำให้ความสามารถในการมองเห็นระยะใกล้ลดลง หากไม่ได้สวมแว่นสายตาช่วย จะทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อตาเพ่งมองมากและนานกว่าปกติ จะทำให้กล้ามเนื้อตาเกิดอาการล้าและปวดเมื่อยตา “ที่น่าห่วงหากคนกลุ่มนี้ใช้แท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟน ที่มีขนาดหน้าจอและตัวหนังสือที่เล็กมาก ใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ต้องเพ่งมองในระยะใกล้ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อภายในและภายนอกลูกตาต้องหดตัวเพื่อปรับระยะโฟกัสและมุมตามามองใกล้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดตัวหนังสือ หรือขนาดหน้าจอใหญ่ หรือชนิดที่ขยายตัวอักษรได้ และการปรับสีพื้นหน้าจอ ตัวอักษรควรเป็นสีที่มองแล้วสบายตาที่สุด เช่น พื้นจอสีขาว ตัวอักษรสีดำ เป็นต้น ไม่ควรใช้สีเข้ม เพื่อที่จะไม่ต้องใช้สายตาเพ่งมากเกินไป และแนะนำให้ตรวจเช็คสายตาทุก 1 ปี เพื่อเปลี่ยนเลนส์ของแว่นให้เหมาะสมกับสภาพของสายตา” นายแพทย์ปานเนตร กล่าว
มีนาคม 7/8 ****************************************** 3 มีนาคม 2556