กระทรวงสาธารณสุข สร้างอาสาสมัครฉุกเฉินกู้ชีพประจำครัวเรือนละ 1 คน ตั้งเป้าปี 2556 จำนวน 300,000 คน คัดเลือกจาก อสม. อปพร.นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่มีศักยภาพ เป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศพร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพเครือข่ายองค์กร มูลนิธิ เอกชน ให้มีมาตรฐานขึ้นทะเบียนถูกต้อง ทำงานได้ทั้งกู้ภัยและกู้ชีพ
วันนี้(6 มีนาคม 2556) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “ภาคีฉุกเฉินไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน” ว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ด้านวิชาการในการดำเนินการทางการแพทย์ฉุกเฉินในทุกๆ ด้าน ทั้งการปฏิบัติการ การศึกษา การวิจัย การค้นคว้าและการสร้างสิ่งสนับสนุนโดยเฉพาะองค์ความรู้ใหม่ๆ เตรียมพร้อมรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2558
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า การแพทย์ฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน ทรัพยากร ตลอดจนภาคีเครือข่าย โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายขยายการแพทย์ฉุกเฉินให้ถึงระดับครัวเรือน โดยสร้างอาสาฉุกเฉินชุมชน หรือ อฉช. มีเป้าหมาย 1 ครัวเรือน 1 คน ตั้งเป้าปีนี้ประมาณ 300,000 คน เพื่อให้มีความรู้เรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ทั้งเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภัยพิบัติ อุบัติเหตุ โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ออกแบบหลักสูตรและคัดเลือกบุคคลเข้ามารับการอบรม เช่น จาก อสม. อปพร. หรือนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลที่มีศักยภาพ ที่มีพื้นฐานความรู้พอที่จะเข้ามาเป็นอาสาฉุกเฉินชุมชนประจำครัวเรือนดังกล่าว จะเป็นเครือข่ายในการที่จะส่งข้อมูล แจ้งข่าว ในการวางยุทธศาสตร์ ในการให้บริการ มั่นใจว่าหากดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ได้ ระบบการดูแลการแพทย์ฉุกเฉินของไทยจะครอบคลุมทั่วถึงและมีมาตรฐาน ประชาชนจะได้รับการช่วยชีวิตได้อย่างรวดเร็ว มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการประชุมครั้งนี้ ได้เน้นย้ำมาตรฐานในการปฏิบัติ และมีกลไกที่เอื้ออำนวยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เนื่องจากเรื่องการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่ได้จำเพาะด้านการแพทย์ แต่ต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการมีรถกู้ชีพ กู้ภัยในทุกท้องถิ่น โดยในการทำงานรถกู้ชีพจะเป็นหน่วยแรกที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุ ให้สามารถทำงานได้ทั้งกู้ภัยและกู้ชีพได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบางแห่งมีการขึ้นทะเบียนเฉพาะกู้ภัย ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกู้ชีพ จำเป็นต้องปรับบทบาทให้ปฎิบัติงานได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะเรื่องการกู้ชีพเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ ที่จะต้องเติมเต็มทั้งอุปกรณ์เครื่องมือ และองค์ความรู้บุคลากร ตลอดจนการสนับสนุนด้านค่าตอบแทน ขณะนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากท้องถิ่น
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีภาคีเครือข่ายที่เป็นองค์กร มูลนิธิต่างๆ ภาคเอกชน ที่เข้ามาช่วยงานด้านนี้ แต่ปัญหาขณะนี้คือการขึ้นทะเบียนยังไม่ครอบคลุม ครอบคลุมในต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ซึ่งมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขึ้นทะเบียน ยังต้องดำเนินการต่อคือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่า กทม. กับศูนย์เอราวันเป็นผู้ขึ้นทะเบียน โดยมีเงื่อนไขคือ ถ้าเป็นกู้ภัยกู้ชีพ หากจะขึ้นทะเบียน ต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และมั่นใจว่าศูนย์แพทย์เอราวันสามารถรองรับได้ จึงมีความคาบเกี่ยวระหว่างรถกู้ภัยที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนกู้ชีพแล้วไปทำงานกู้ชีพซึ่งเป็นอันตราย กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งหารือเพื่อให้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องนี้ให้เข้าสู่อาเซียนให้ได้
มีนาคม/4 ***************************************** 6 มีนาคม 2556