วันนี้ ( 7 มีนาคม 2556 ) ที่โรงแรมแกรนด์ เดอ วิลล์ กรุงเทพฯ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานแถลงข่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเตรียมความพร้อมในการรองรับประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการบริการสุขภาพ ด้านการควบคุมมาตรฐานอาหารนำเข้าและส่งออก รวมทั้งอาหารที่จำหน่ายและบริโภคในประเทศด้วย เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งจะส่งผลต่อการมีสุขภาพดี ลดปัญหาการเจ็บป่วย ในปีนี้ได้มอบหมายให้กรมอนามัยเร่งรัดให้ร้านอาหารและแผงลอยพัฒนาให้ได้มาตรฐาน โดยจัดทำโครงการเยาวราชต้นแบบถนนอาหารปลอดภัย ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สมาคมภัตตาคารไทย และประชาคมผู้ประกอบการค้าอาหารเยาวราช เพื่อยกระดับมาตรฐานร้านอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหาร เตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นครัวโลก ซึ่งได้เปิดอบรมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยย่านเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตพระนคร จำนวน 200 คน เพื่อสร้างความเข้าใจมาตรฐานรถเข็นและแผงขายอาหารปลอดภัย และจะสร้างให้เยาวราชเป็นแหล่งอาหารสะอาดปลอดภัยและรสชาติอร่อยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ขณะนี้อาหารไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมาก ในปี 2554 ธุรกิจอาหารของประเทศไทยขยายตัวแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 20 นับว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมของประเทศที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 15.9 ต่อปี ซึ่งไทยส่งออกอาหารปีละกว่า 33 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 14 ของการส่งออกทั้งหมด ในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกนอกจากจะผลิตอาหารให้เพียงพอแล้ว อาหารจะต้องปลอดภัยเป็นที่ยอมรับและเชื่อมั่นของนานาประเทศด้วย
ด้าน นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ออกแบบและกำหนดมาตรฐานรถเข็นขายอาหาร และแผงลอยจำหน่ายอาหาร ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนที่1.ด้านตัวรถหรือแผงลอยวางอาหารต้องทำจากวัสดุที่แข็งแรง ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ ทำความสะอาดง่าย เช่น สแตนเลส อลูมิเนียม หรือเหล็ก แต่ต้องไม่เป็นสนิม ไม่มีคม สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ส่วนที่2 ด้านอาหาร อาหารที่ปรุงสำเร็จต้องใส่ในภาชนะหรือวางในตู้ที่มีการปกปิดมิดชิด เครื่องปรุงและวัตถุดิบทุกอย่างต้องบรรจุในภาชนะที่สะอาดและมีฝาปิด สารที่ใช้ปรุงแต่งอาหารต้องผ่านการรับรองจากอย. น้ำดื่มและน้ำแข็งบริโภคต้องสะอาด ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิด วางอยู่สูงจากพื้น 60 เซนติเมตร ใช้อุปกรณ์ตักน้ำแข็ง และห้ามนำอาหารหรือสิ่งของอื่นๆไปแช่รวมในภาชนะเก็บน้ำแข็งบริโภค ล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจานและล้างน้ำเปล่า 2 รอบโดยตั้งอุปกรณ์การล้างสูงจากพื้น 60 เซนติเมตร เก็บช้อน ส้อม ตะเกียบในภาชนะที่โปร่งสะอาดมีฝาปกปิดและต้องตั้งเอาด้ามขึ้นและกำจัดขยะมูลฝอยหรือเศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค
และส่วนที่ 3.ด้านตัวผู้ปรุงหรือผู้ค้าขายอาหารต้องมีสุขอนามัยดี รักษาความสะอาดของร่างกาย สวมเสื้อมีแขน สวมหมวกหรือเน็ตคลุมผมและผ้ากันเปื้อนทุกครั้ง ตัดเล็บสั้น หากสวมหน้ากากอนามัยด้วยจะดีมาก หากผู้ประกอบอาหารมีบาดแผลที่มือ ต้องปิดบาดแผลและสวมถุงมือให้มิดชิด ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้ว แยกเขียงอาหารสุกและอาหารดิบ ทั้งนี้ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีรถเข็นหรือแผงลอยสำหรับขายอาหารประเภทต่างๆจำนวน 103,063 ราย ขณะนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานแล้ว จำนวน 86,913 รายคิดเป็นร้อยละ 84 และคาดว่าในปี 2556 นี้จะเพิ่มให้เป็นร้อยละ 85 ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือแผงลอยที่ต้องการปรับปรุงร้านให้ได้มาตรฐาน ติดต่อได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานเทศบาลทุกแห่ง กองสุขาภิบาลอาหาร กทม.สำนักงานเขต กทม.ทั้ง 50 เขต
************* 7 มีนาคม 2556
View 12
07/03/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ