กระทรวงสาธารณสุข ชี้อันตรายคนชอบ “กินเค็ม” เกลือโซเดียมส่วนเกินเป็นเพชฌฆาตเงียบทำลายไตใช้เวลาเพียง 5-10 ปี เผยขณะนี้มีคนไทยเป็นโรคไตเกือบ 8 ล้านคน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต หรือต้องฟอกไตยืดชีวิต และเปลี่ยนไตใหม่ จัด “วันไตโลก” และ“สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง”ในสถานพยาบาลในสังกัดภาครัฐพร้อมกันทั่วประเทศวันที่ 11–17 มีนาคมนี้ รณรงค์ให้ความรู้ประชาชนลดกินเค็ม เพื่อถนอมไตไม่ให้เสื่อม ชี้เครื่องปรุงรสรูปแบบใหม่ ทั้งผงปรุงรส ผงฟู ซุปก้อน ล้วนมีเกลือโซเดียมผสมทั้งสิ้นแต่ไม่รู้สึกว่าเค็ม การใช้ต้องระวัง !     

          วันนี้ (7 มีนาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นาวาอากาศเอก นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกันแถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม 2556 พร้อมกับอีกกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยไทยจะจัด “สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” ที่โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดภาครัฐพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2556 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการถนอมไตไม่ให้เสียเร็ว ในปีนี้จะเน้นให้ลดกินเค็มลงครึ่งหนึ่ง ลดการเติมเครื่องปรุงรสเค็มในอาหารให้น้อยลงกว่าที่เคยใช้ลงให้ได้ร้อยละ 50    
ขณะนี้โรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก ในรอบ 10 ปีมานี้คนไทยมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุใหญ่ที่สุดร้อยละ 60 เกิดจากเบาหวานและความดันโลหิตสูง 2 โรคนี้มีคนป่วยรวมเกือบ 15 ล้านคน ทำให้ไตเสื่อมตามมาภายหลังหากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากโรคนิ่วในไต ติดเชื้อที่ไต และเกิดจากการกินยาแก้ปวดติดต่อกันนานๆ และพบในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีหรือที่รู้จักว่าโรคพุ่มพวง จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตร้อยละ 17.5 ของประชากรหรือประมาณ 8 ล้านคน ป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดโรคแทรกซ้อนถึงเสียชีวิต หรือต้องฟอกไตยืดชีวิต รอการเปลี่ยนไตใหม่ โดยมีผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สูญเสียหน้าที่ถาวรประมาณ 40,000 ราย ต้องผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่หรือที่วงการแพทย์เรียกว่าปลูกถ่ายไต ซึ่งมีขั้นตอนในการรักษายุ่งยากและค่าใช้จ่ายสูงปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน และยังมีข้อจำกัดหลักคือขาดแคลนผู้บริจาคไต จึงต้องรักษาเพื่อยืดอายุโดยวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือล้างของเสียออกทางหน้าท้อง ในปี 2555 มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตเพียง 400 รายเท่านั้น 
หน้าที่สำคัญของไตคือการควบคุมระดับของโซเดียมในร่างกาย โซเดียมจะช่วยรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ทำให้การทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อเป็นปกติ โดยโซเดียมที่ร่างกายได้รับร้อยละ 90-95 มาจากอาหารที่บริโภค ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ รวมทั้งเครื่องปรุงรสเค็ม และอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส ผงฟู โดยค่ามาตรฐานใน 1 วันร่างกายต้องการไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันหรือเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2550 พบว่าคนไทยบริโภคเกลือหรือโซเดียมเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดถึง 2 เท่า การกินเค็มจัดเช่นนี้ จะทำให้ไตทำงานหนักในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย หากขับออกได้ไม่หมดโซเดียมก็จะคั่งและเป็นตัวดึงน้ำไว้ในร่างกาย ทำให้มีปริมาณของเหลวไหลเวียนในร่างกายมากผิดปกติ เพิ่มแรงดันในหลอดเลือดให้สูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เกิดปัญหาหลอดเลือดทั้งขนาดใหญ่และเล็กที่ไปเลี้ยงทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา                                                 
โดยเฉพาะที่ไตจะมีผลกระทบมาก เนื่องจากมีเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จำนวนมากทำหน้าที่กรองของเสียออกจากเลือด ไม่สามารถขับของเสียออกได้หมด เกิดการอักเสบของเส้นเลือด เร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าปกติ เป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนกินเค็ม เพราะหากยังกินเค็มต่อเนื่อง ภายใน 5 – 10 ปีหลอดเลือดในไตจะเสื่อมสภาพอย่างถาวรทำให้เป็นไตวายเรื้อรัง รักษาให้กลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนไตใหม่ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้ประชาชนลดการกินเค็มลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เพื่อให้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นการถนอมไต ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับไตในระยะยาว
ที่น่าห่วงคือ ปัจจุบันพบว่าคนไทยส่วนใหญ่พึ่งครัวนอกบ้าน ซึ่งจะใช้เครื่องปรุงรสล้วนแต่มีสารโซเดียมผสมอยู่ทั้งสิ้น และผลิตภัณฑ์ชูรสได้ปรับจากรูปแบบเดิมที่เป็นเกล็ด ใส ที่เรียกว่าผงชูรส มาเป็นผงแป้งปรุงรสหรือซุปก้อน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าไม่ใช่ผงชูรส แต่ทำจากเนื้อสัตว์ ช่วยให้อาหารรสชาติกลมกล่อม อร่อยขึ้นจึงใส่ในปริมาณมากกว่าการใช้ผงชูรส ทั้งที่ปริมาณโซเดียมในผงปรุงรสเหล่านี้สูงกว่าผงชูรสถึง 2-3 เท่าตัว เมื่อเทียบในปริมาณ 1 ช้อนชา ผงชูรสมีโซเดียม 492 มิลลิกรัม ผงแป้งปรุงรสมี 815 มิลลิกรัม และซุปก้อนขนาด 10 กรัมมีโซเดียม 1,760 มิลลิกรัม ส่วนน้ำปลามี 400-500 มิลลิกรัม และเกลือมีมากที่สุดคือ 2,000 มิลลิกรัม ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ใส่เครื่องปรุงรส เพราะร่างกายจะได้รับโซเดียมที่อยู่ในอาหารตามธรรมชาติวันละ 400-600 มิลลิกรัมอยู่แล้ว จะรับเพิ่มจากเครื่องปรุงรสได้อีกไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม จึงขอให้ผู้ปรุงอาหารทั้งที่ทำกินเองและจำหน่าย ตระหนักถึงพิษภัยของการใช้เครื่องปรุงรส ลดปริมาณเกลือ ผงชูรส เครื่องปรุงรสต่างๆ ลง และปรุงอาหารรสชาติกลางๆ จะเหมาะที่สุด อย่าติดในรสอร่อย นอกจากนี้ ขอให้ลดการบริโภคเบเกอรี ขนมปัง ขนมเค้ก ซึ่งจะมีผงฟูเป็นส่วนผสม รวมทั้งอาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง และขนมกรุบกรอบ อาหารกึ่งสำเร็จรูปเช่นบะหมี่ โจ๊ก ซึ่งมีสารกันบูด ผงปรุงรสผสมอยู่ จึงมีสารโซเดียมในปริมาณสูงเช่นกัน
ในการรณรงค์ลดการกินเค็ม กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ โดยเป็นต้นแบบลดการปรุงอาหารรสเค็มในโรงครัว ร้านอาหารในรพ.ยกพวงเครื่องปรุงออกจากโต๊ะอาหารและมีเมนูชูสุขภาพ อาหารสุขภาพแก่ผู้ป่วยและญาติและคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางไตในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงปีละ 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปกติทางไต
สำหรับกิจกรรมใน “สัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” ระหว่างวันที่ 11-17 มีนาคม 2556 จะมีการจัดในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเชิญชวนโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ป่วยและญาติ ตรวจประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสเค็มและการใช้เครื่องปรุงอาหารประกวดเมนูอาหารลดเค็ม และตรวจปัสสาวะดูความผิดปกติการทำงานของไต ส่วนกลางจัดกิจกรรมสัปดาห์วันไตโลก ลดเค็มครึ่งหนึ่งในวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคมนี้ จัดที่โซนอีเดน ชั้น 1 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 21.00 น. มีนิทรรศการให้ความรู้เรื่องโรคไตสาธิตโภชนาการและผลิตภัณฑ์อาหารลดเค็มเพื่อผู้บริโภค เปิดรับบริจาคไต การตรวจสุขภาพ การเสวนาทางการแพทย์ สาธิตการทำอาหารลดเค็มเพื่อสุขภาพ โดยดร.ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์เชฟชื่อดังของเมืองไทย และการแสดงบนเวที โดยกลุ่มศิลปิน นักแสดง ดาราต่างๆ มากมาย ผู้สนใจสามารถร่วมกิจกรรม ฟรี
 ****************************** 7 มีนาคม 2556


   
   


View 13    07/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ