“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยมะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบใกล้ตัว คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ปีละเกือบ 3,000 คน ป่วยกว่า 34,000 คน ชี้ขณะนี้มีผู้หญิงเสี่ยงเป็นมะเร็งชนิดนี้มากถึง 19 ล้านคน รณรงค์ให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนเพื่อค้นหาก้อนมะเร็ง ตั้งเป้าปีนี้ให้พลังสตรีและอสม.รณรงค์กระตุ้นหญิงไทยลงมือตรวจตัวเองให้ได้ร้อยละ 80 ชี้หากตรวจพบเร็ว จะมีผลดี โอกาสรักษาหายและรอดชีวิตสูง
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 8 มีนาคม ทุกปี เป็นวันสตรีสากล ซึ่งขณะนี้ประชากรของไทยกว่าครึ่งเป็นสตรี โดยมีจำนวน 32,546,885 คน ผลการสำรวจล่าสุดในปี 2555 ผู้หญิงมีอายุคาดเฉลี่ยหลังเกิด 76.9 ปี โดยอายุยืนกว่าผู้ชาย 7.3 ปี นับเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญและเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ในการดูแลให้ผู้หญิงมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ เป็นหลักให้กับครอบครัว ชุมชน และสังคม
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์สุขภาพของผู้หญิง พบว่าปัจจุบันมีภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพสตรี โดยไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า ที่สำคัญได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยมะเร็งเต้านมเป็นสาเหตุการป่วยและการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1 สถิติสาธารณสุขล่าสุดของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ปี 2554 พบสตรีไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 34,539 คน เสียชีวิต 2,724 คน เฉลี่ยวันละ 7 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 711 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไปทุกคนซึ่งมีจำนวนประมาณ 19 ล้านคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และโรคนี้ถือเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมะเร็งเต้านมจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด จะปรากฏอาการผิดปกติให้เห็น เมื่ออยู่ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีการอักเสบและลุกลามไปทั่วแล้ว การรักษามักไม่ได้ผล ส่วนใหญ่จะเสียชีวิต ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นหาก้อนมะเร็งให้เร็วที่สุด หากพบเร็วจะมีโอกาสที่รักษาหายและรอดชีวิตสูง ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้านรณรงค์เริ่มปลูกฝังให้ผู้หญิงตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน อัตราครอบคลุมให้ได้ร้อยละ 80 เพื่อลดการสูญเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มะเร็งเต้านมร้อยละ 80 ตรวจพบได้ด้วยตนเอง ดังนั้นในปีนี้กรมอนามัยจะเน้นหนักเรื่องการรณรงค์ให้ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ตรวจเต้านมค้นหาโรคมะเร็ง โดยตรวจหลังประจำเดือนหมดแล้ว 3- 7 วัน ตรวจทุกเดือน ซึ่งเป็นวิธีประหยัด เป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าได้ผลดีที่สุด ใช้เพียง 3 นิ้วสัมผัสคือนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำเต้านม 2 ข้างตามเข็มนาฬิกา หากพบว่ามีก้อนผิดปกติ ให้พบอสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านหรือโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อส่งตรวจยืนยันที่โรงพยาบาล หากพบว่าเป็น จะได้รับการรักษาทันที ในปีนี้จะอาศัยพลังของกลุ่มสตรีในชุมชนและอสม.กว่า 1 ล้านคน เป็นแกนหลักในการรณรงค์ โดยได้จัดอบรมความรู้ และฝึกทักษะวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อนำไปเผยแพร่และกระตุ้นในสตรีในชุมชน ซึ่งกรมอนามัยได้จัดนิทรรศการโรคมะเร็งเต้านม เนื่องในวันสตรีสากลที่เมืองทองธานี เน้นการเผยแพร่เทคนิค 3 นิ้ว 3 สัมผัส เพื่อสกัดมะเร็งเต้านมเป็นหลักด้วย
สำหรับอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ควรไปพบแพทย์มีดังนี้ พบก้อนที่เต้านม ผิวหนังเต้านมเป็นรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ มีสะเก็ด หัวนมหดตัว คัน แดงผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำไหลออกจากหัวนม โดยเฉพาะสีคล้ายเลือด ต้องรีบพบแพทย์
**************************************** 8 มีนาคม 2556