ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว แต่มีอัตราการเข้าถึงบริการน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วย เหตุเพราะประชาชนไม่ตระหนักว่าป่วย และยังมีอคติไม่อยากพบจิตแพทย์ เพราะกลัวคนรอบข้างว่าเป็นบ้า เผยโรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่าอับอาย มียารักษาหาย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ขยายการรักษาครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และมีระบบตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า เพื่อดูแลเป็นพิเศษ ตั้งเป้าจะให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการให้ได้ทุกคน และเปิดสายด่วน 1323 บริการ 24 ชั่วโมง

             จากกรณีที่มีผู้พิพากษาเกิดปัญหาเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และเขียนข้อความในกระดาษทิ้งไว้ว่า “โรคเครียด โรคซึมเศร้า มียารักษาไหม” ก่อนฆ่าตัวตาย วานนี้ (7 มีนาคม 2556) นั้น ในวันนี้ (8 มีนาคม 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชน ผลการศึกษาในหลายประเทศพบว่า โรคนี้มีโอกาสเกิดในช่วงชีวิตหนึ่งของคนระหว่างร้อยละ 0.9–13 ในส่วนของไทยคาดว่าประชาชนอายุ 15  ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชาย 2 เท่าตัว    พบในกทม.มากที่สุดอัตราป่วยร้อยละ 5  ขณะที่ต่างจังหวัดมีประมาณร้อยละ 2.3-2.7 ทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการฆ่าตัวตาย

                     นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบบริการผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยกระจายการรักษาด้วยยาและการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตครอบคลุมถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และมีระบบเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และในคลินิกโรคเรื้อรังทั้งในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งได้อบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ช่วยประเมินปัญหาด้านสุขภาพจิต หากพบว่ามีความเสี่ยงจะส่งเข้ารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ตั้งเป้าจะให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าเข้าถึงบริการให้ได้ทุกคน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงได้

                  ด้านนายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคซึมเศร้ามียารักษาหายขาดได้ แต่ปัญหาหลักและเป็นปัญหาใหญ่ของไทยขณะนี้คือ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาน้อยเพียงร้อยละ 29 ของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากประชาชนที่มีอาการ แต่ไม่รู้ตัวว่าป่วย หรือไม่คิดว่าตัวเองป่วย และยังมีอคติ ไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวคนรังเกียจว่าบ้า ทั้งๆที่โรคนี้ไม่ใช่โรคที่น่าอับอาย ซึ่งการรักษาไม่ยุ่งยาก ใช้วิธีทานยาเพียงวันละ 1 เม็ด อาการจะดีขึ้นใน 2-4 สัปดาห์ แล้วทานต่อเนื่อง 6 เดือนก็จะเป็นปกติ และป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งพบอาการกลับซ้ำได้ประมาณร้อยละ 20 -30 

                      ทางด้านนายแพทย์ธรณินทร์ กองสุข ผอ.โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ สังกัดกรมสุขภาพจิต จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคของสมองที่เกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาท ส่งผลให้มีอาการผิดปกติทั้งร่างกายและจิตใจ อาการที่สำคัญคือ มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่อย่างรุนแรง เกิดขึ้นตลอดวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับเบื่อหน่ายหมดความสนใจในการงานหรือกิจการที่ทำอย่างมาก   ทั้งนี้พบบ่อยว่าอาการซึมเศร้าถูกกระตุ้นโดย 3 เหตุการณ์ ได้แก่ 1.การสูญเสีย เช่น เสียคนที่รัก หรือทรัพย์สิน  2.ถูกปฏิเสธ  และ3.พลาดในสิ่งที่หวังหรือผิดหวัง โดยผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจะมีโอกาสฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 20 เท่าตัว  ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ยังส่งผลให้เกิดความกระทบกระเทือนจิตใจคนใกล้ชิด เป็นการทิ้งภาระต่างๆ ให้คนที่เหลืออยู่ ขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้พัฒนาแบบตรวจคัดกรองเพื่อเป็นระบบเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ที่มีอาการซึมเศร้าด้วยคำถามง่ายๆเพียง 2 ข้อ คือ 1.ในรอบ 2  สัปดาห์ที่ผ่านมามีอาการหดหู่ท้อแท้ สิ้นหวังหรือไม่   และ2.ในรอบ 2 สัปดาห์รู้สึกเบื่อ หมดอาลัยตายอยาก ไม่อยากทำอะไรเลย หากพบมีอาการในข้อหนึ่งข้อใด หรือทั้ง 2 ข้อ อาจมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ควรจะต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติมและส่งพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการดูแลที่ถูกต้อง

               นายแพทย์ธรณินทร์กล่าวต่อว่า ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ป่วยโรคทางกายเรื้อรังรุนแรงที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น มะเร็ง ไตวาย เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอด ผู้ติดสุราหรือสารเสพติด และผู้สูงอายุพบได้ประมาณร้อยละ 4 โดยเฉพาะที่อยู่คนเดียว ขาดญาติดูแล

                        จึงขอแนะนำประชาชนหากรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวล นอนไม่หลับ รู้สึกหดหู่ท้อแท้ เบื่อไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไร ใจลอย ไม่มีสมาธิ เศร้า อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดต่อเนื่อง ขอให้พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนใกล้ชิดก็จะช่วยให้ปัญหาหนักเป็นเบา เพราะปัญหาทุกเรื่องมีทางแก้ไขหาทางออกได้ หรือไปพบแพทย์หรือพยาบาลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาทางสายด่วน 1323 จะมีพยาบาลจิตเวชและนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันครอบครัว ผู้ใกล้ชิดหรือผู้ร่วมงาน ขอให้สังเกตความผิดปกติของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน เช่นจากคนเคยร่าเริงกลับเศร้าซึมเก็บตัว และเข้าไปสอบถามพูดคุย เพื่อรับฟังปัญหา ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้นได้ และโรคนี้ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์และอย่างน้อย 3 ครั้ง ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphine) ซึ่งเป็นสารสารต้านเศร้าตามธรรมชาติ นายแพทย์ธรณินทร์กล่าว 

*************************************************  8 มีนาคม 2556

 



   
   


View 16    08/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ