การเจรจาทำความเข้าใจซีแอลของประเทศไทยกับสมาคมพ่อค้า กลุ่มนักธุรกิจด้านยา และฝ่ายการเมืองของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง วันที่สอง ประสบผลสำเร็จราบรื่น ทุกฝ่ายเข้าใจในการทำซีแอลของไทย และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หมอมงคลมีกำลังใจทำงาน พร้อมเดินหน้างานอื่นๆ โดยไทยใกล้จะบรรลุข้อตกลงกับบริษัทเมิร์ก เพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของคนจน คาดว่าใน 1-2 เดือนนี้ คนไทยได้รับข่าวดีแน่นอน
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2550) เวลา 09.00 น. นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ จากสถานทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงกับเวลา 22.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาทำความเข้าใจเรื่องซีแอลของประเทศไทย กับสมาคมผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์ หรือฟาร์มา (PhRMA) กลุ่มสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน หรือยูเอสเอบีซี (USABC) สภาหอการค้าสหรัฐฯ (US Chamber of Commerce) นักการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งบริษัทเมิร์ก (Merck) ตลอดวันตั้งแต่เวลา 08.45 น. จนถึงเวลา 19.00 น. ว่า บรรยากาศการหารือในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่สองและวันสุดท้ายของการทำความเข้าใจเรื่องซีแอล เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ จากการพูดคุยพบว่ายังมีข้อมูลหลายจุดที่ทางฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับมาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการที่ไทยจะใช้ซีแอลมากจนกลายเป็นมาตรการปกติ และการกล่าวหาว่าไทยไม่เคยเจรจา หรือไม่ยอมเจรจากับบริษัทยา การพูดคุยทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องซีแอลของสหรัฐฯ เข้าใจข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนดีขึ้น จัดว่าการหารือวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทำให้ความหวังโดยเฉพาะความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ กระชับแน่นยิ่งขึ้น และทำให้เราสามารถทำงานเรื่องอื่นๆ เป็นไปอย่างราบรื่น
บอกตรงๆ ว่า วันนี้เป็นความสำเร็จที่ผมดีใจมาก สบายใจ คลายกังวลที่มีมาหลายวันก่อน ว่าจะมีกำลังใจฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าได้หรือไม่ แต่พอถึงจุดนี้บอกได้เลยว่า คืนนี้นอนหลับอย่างสบายใจ นายแพทย์มงคล กล่าว
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า จากการที่ได้พบกับผู้บริหารบริษัทเมิร์ก หลังจากที่พบที่นครนิวยอร์กมาแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้มาเสนอราคายา ซึ่งเคยเสนอไว้ที่ 726 บาทต่อคนต่อเดือน ไม่สามารถลดได้อีก แต่มีแนวคิดที่จะทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งอยู่ในลักษณะสร้างสรรค์ดีมาก โดยฝ่ายไทยและบริษัทจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาทั้งสองฝ่าย ในส่วนของไทยมอบหมายให้นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และนายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นคณะทำงาน เพื่อหารือรูปแบบความร่วมมือที่จะให้ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งเป็นยาของบริษัทเอ็มเอสดี ได้เข้าถึงคนยากจน ทำให้คนจนโดยเฉพาะเด็กที่ติดเชื้อเอดส์จากแม่ ได้มีโอกาสอย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยจะสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้ จะเป็นข่าวดีของคนไทยที่มีฐานะยากจน ได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและมีราคาถูกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งถ้าบริษัทยาต่างๆ มีท่าทีที่สร้างสรรค์และมีความเห็นใจคนยากจนเหมือนบริษัทเมอร์ก คนยากจนทั่วโลกจะเข้าถึงยาได้ดีกว่านี้มาก
ทางด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากการเข้าพบหารือกลุ่มองค์กรด้านการค้า ได้แก่ สมาคมฟาร์มา (PhRMA) ซึ่งเป็นสมาคมวิจัยและผลิตเวชภัณฑ์อเมริกา และมีอิทธิพลสูงมากในสหรัฐฯ โดยมียาชั้นนำอยู่หลายตัว และมีงบวิจัยตัวยาใหม่ๆ มากถึงปีละ 39,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งสภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงในเรื่องการค้ากับต่างประเทศ มีเครือข่าย 830 องค์กรทั่วโลก สมาชิกรวมกว่า 3 ล้านธุรกิจ และพบกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ซึ่งมีสมาชิกเป็นบริษัทชั้นนำที่ทำธุรกิจกับประเทศในอาเซียน ส่วนภาคการเมืองของสหรัฐฯ ที่พบครั้งนี้ มี 3 กลุ่ม คือ วุฒิสภาชิก จิม เดมินท์ (Jim DeMint) พรรคลีพับลิกัน จากรัฐเซาท์แคโรไรนา และพบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ได้แก่ ส.ส.เซนเดอร์ เลวิน (Sander Levin) พรรคเดโมเครต จากรัฐมิชิแกน ซึ่งสนับสนุนการทำซีแอลของไทย ส.ส.เจ เดนนิส ฮารสเติต (J. Dennis Hastert) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐอิลินอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแอบบอต ส.ส.อินี ฟาริโอมาเวกา (Eni Faleomavaega) จากพรรคเดโมเครต เกาะอเมริกันซามัว นายเดวิด คาโนลล์ (David Knoll) ซึ่งเป็นทีมงานของวุฒิสมาชิกเอดเวิร์ด เคเนดี้ (Edward Kennedy) ผลการหารือ ทุกฝ่ายที่กล่าวมามีความเข้าใจประเด็นการทำซีแอลของไทยว่า ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งตามข้อตกลงทริปส์ และมีความโปร่งใสทุกประการ ประเด็นนี้ผู้แทนจากสภาหอการค้าสหรัฐฯ พูดชัดเจนว่าไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้ ผลจากการประกาศซีแอลของประเทศไทยกับยา 3 ตัว ได้แก่ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ยาโคลพิโดเกรล และยาคาเร็ตตรา คาดว่าจะมีผลเป็นมูลค่าประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ในขณะที่ตลาดยาทั่วโลก มีมูลค่าถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยรวมแล้วทุกฝ่ายมีความเข้าใจดีขึ้น แม้ว่ามีบางกลุ่ม เช่น สมาคมผู้วิจัยและผลิตเวชภัณฑ์อเมริกา ในเครือสมาคมฟาร์มา จะเริ่มเจรจาด้วยท่าทีแข็งกร้าวมาก แต่ในที่สุดก็จบลงด้วยความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดี
นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจตลาดยาในประเทศ พบว่ายาต้นแบบทั้งหมดที่ไม่มีสิทธิบัตร หลังจากออกสู่ท้องตลาด 7 ปี จะมียาสามัญออกมาสู่ท้องตลาดเพียง ร้อยละ 24 และในจำนวนนี้ก็มียาจำนวนมากที่เป็นยากลุ่มเดิม ที่ไม่มีประสิทธิภาพดีไปกว่ายาที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นยากลุ่มของยาส่งเสริมลีลาชีวิต ไม่เกี่ยวข้องกับการนำมาใช้ช่วยชีวิต เช่น ยารักษาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ยาปลูกผม และยารักษาสิว เป็นต้น ในทางปฏิบัติจึงมีข้อจำกัดในการทำซีแอล และสามารถทำซีแอลกับยาได้ไม่กี่ตัวเท่านั้น ไม่มีทางที่จะดำเนินการจนกลายเป็นมาตรการที่ใช้เป็นปกติวิสัยได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประเด็นความคลุมเครือที่ว่า ไทยจะทำ ซีแอลจนเป็นมาตรการปกติหรือไม่ จึงมีความกระจ่างชัดในสายตาของฝ่ายสหรัฐอเมริกา
แต่ขณะนี้ประเด็นสำคัญที่พุ่งเป้าต่อไปก็คือ เรื่องผลกระทบจากซีแอลต่อการวิจัยและพัฒนาตัวยาใหม่ๆ เนื่องจากสหรัฐกังวลว่าการทำซีแอลจะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว ทำให้ไม่มีบริษัทใดกล้าลงทุนวิจัยยาใหม่ เพราะต้องใช้งบประมาณสูงมาก ซึ่งไทยแจ้งว่าตลาดของผู้ที่ใช้ยาใหม่ที่มีสิทธิบัตร จะเป็นผู้ที่มีฐานะดี มีกำลังซื้อ และจ่ายค่ายาเอง ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 รวมทั้งยังมีชาวต่างชาติที่เข้ามารักษาในประเทศไทยอีกปีละกว่า 2 ล้านคน ส่วนคนจนเป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินซื้อ และจะได้มีสิทธิใช้ยาใหม่ก็ต่อเมื่อยานั้นหมดสิทธิบัตรไปแล้ว การดำเนินการของไทยครอบคลุมเฉพาะคนที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพของรัฐเท่านั้น จึงไม่กระทบต่อตลาดยาที่มีสิทธิบัตร ซึ่งเป็นตลาดของผู้มีรายได้สูงแต่อย่างใด
*********************** 23 พฤษภาคม 2550
View 4
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ