“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า จากการที่ประเทศไทย จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐ เอกชน รวมทั้งธุรกิจสปา-นวดส่งเสริมสุขภาพ คลินิกเสริมความงาม และคลินิกทันตกรรมที่มีศักยภาพ ให้เร่งพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ทุกแห่งจะต้องผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำที่จำเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความปลอดภัยความสะอาดอาคารสถานที่ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2.ด้านเครื่องมือบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต้องมีประสิทธิภาพ และมีการสอบเทียบความเที่ยงตรงของเครื่องมือแพทย์ตามมาตรฐานสากล มีความพร้อมให้บริการทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน และ3.ต้องมีระบบการให้ความรู้ด้านสุขภาพประชาชน เพื่อให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพนำไปสู่การมีสุขภาพดีไม่เจ็บป่วย และความรู้วิธีการปฏิบัติตัวในการป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดตามมาหลังเจ็บป่วย
ในปี 2555 มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กล่าวมา 64 แห่ง ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ 22 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 41 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 1 แห่ง ซึ่งในปี 2556 นี้มีเป้าหมายจะเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานเพิ่มอีก 225 แห่ง และจะเพิ่มให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งรัฐ เอกชนภายในปี 2558
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจประเภทสปาของไทย ขณะนี้นับว่าได้รับความนิยมสูงเป็นอับ 1 ของอาเซียน เป็นธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอาหารเสริม มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น สปานวดแผนไทย การดูแลผู้สูงอายุแบบต่อเนื่องหรือลองสเตย์ (long stay) และยังมีธุรกิจเสริมความงามที่มีชื่อเสียงระดับโลกเช่น การผ่าตัดแปลงเพศ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เป็นต้น จะต้องได้มาตรฐานทั้งด้านคุณภาพ ด้านความปลอดภัย และการมีจิตใจบริการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยสามารถสร้างความประทับใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาใช้บริการซ้ำอีก คาดว่าเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นในบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งหมดต่อชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมรับการเคลื่อนย้ายบุคลากรวิชาชีพด้านการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพในไทยเช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เป็นต้น ให้สามารถใช้สถานบริการสุขภาพเหล่านี้ได้อย่างมั่นใจ
ด้านนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อตกลงอาเซียนในเรื่องคุณสมบัติทางวิชาชีพหรือเอ็มอาร์เอ (MRA : Mutual Recognition Arrangement) เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของบุคลากรสุขภาพ ซึ่งได้ลงนามแล้ว 3 สาขาวิชาชีพคือ แพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาล และจะเพิ่มอีก 7 สาขาได้แก่ 1.สาขาการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย 2.สาขากิจกรรมบำบัด 3.สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 4.สาขารังสีเทคนิค 5.สาขาจิตวิทยาคลินิก 6.สาขากายอุปกรณ์ และ7.สาขาการแพทย์แผนจีน และอีก 2 ศาสตร์คือ ทัศนมาตรศาสนตร์ หรือผู้ที่ประกอบวิชาชีพด้านตรวจวัดสายตา และศาสตร์ไคโรแพรคติกจัดกระดูก ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย โดยจะเร่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำเอ็มอาร์เอหลังจากการประชุมในวันนี้
ทั้งนี้ตามข้อผูกพันบริการสุขภาพของประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศไทยได้กำหนดดังนี้ 1.เปิดให้อาเซียนถือหุ้นบริการโรงพยาบาลได้ไม่เกินร้อยละ 70 ผู้รับผิดชอบดำเนินการโรงพยาบาลจะต้องมีใบอนุญาตดำเนินการไม่เกิน 1 แห่งและต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ และต้องมีถิ่นพำนักในไทย 2.ในด้านบริการทันตกรรม บริการแพทย์ทั่วไป และด้านแพทย์เฉพาะทางเปิดให้อาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ต้องจัดเป็นคลินิกผู้ป่วยนอก 3.บริการแพทย์เฉพาะทางในเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ในการให้คำปรึกษาด้านกุมารเวช สูตินรีเวช ประสาทวิทยา เปิดให้อาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 70 และต้องดำเนินการร่วมกับนิติบุคคลไทย 4.บริการด้านพยาบาลเปิดให้อาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 และต้องจัดตั้งเป็นแผนกพยาบาลในโรงพยาบาลเท่านั้น และ5.บริการด้านกายภาพบำบัด และบริการโดยบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเฉพาะแผนกพยาบาล เปิดให้อาเซียนถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 70
**************************** 14 มีนาคม 2556