บ่ายวันนี้ (14 มีนาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน  ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (Dr. Margaret Chan Director-General of WHO) และคณะ เพื่อหารือการทำงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

นายแพทย์ประดิษฐให้สัมภาษณ์ว่า แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ได้มาเยี่ยมกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสที่องค์การอนามัยโลกได้มีการประชุมผู้อำนวยการภูมิภาคขององค์การอนามัยโลกจาก 6 ภูมิภาค ได้แก่แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกา ยุโรป เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และแปซิฟิกตะวันตก ในประเทศไทย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2556    ก่อนเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในการพบครั้งนี้  ได้มีข้อปรึกษาหารือใน 4 เรื่อง เรื่องที่ 1 ความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มที่กำลังมีปัญหาและเป็นที่สนใจของสื่อมวลชน 2 โรค คือ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส เนื่องจากขณะนี้มียอดของผู้เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัส  ซึ่งมีอาการคล้ายโรคซาร์ส ประมาณ 10 รายในประเทศซาอุดิอาระเบีย  และมีอาการคล้ายไข้หวัดนกที่ประเทศกัมพูชาอีก จึงต้องวางแผนดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคระบาดในวงกว้าง ซึ่งจะก่อให้ประชาชนเกิดการวิตก และขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูในเรื่องของโรคระบาดจากสัตว์ปีก และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ยังปกติอยู่    เรื่องที่ 2 องค์การอนามัยโลกได้ให้ความสนใจประเทศไทยเกี่ยวกับโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อยากให้ประเทศไทยนำเสนอผลงานระบบการให้บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งประเทศไทยยินดีที่จะเป็นตัวอย่างให้ทุกประเทศ แต่ต้องการให้ทุกประเทศตั้งระบบหลักประกันสุขภาพด้วยระบบการเงินของตนเอง เพราะแต่ละประเทศมีความสามารถในการจ่ายเงินไม่เท่ากัน ขณะนี้ประเทศไทยนี้เป็นการจ่ายเงินในระบบ 30 บาท และให้ประชาชนจ่าย 30 บาทโดยสมัครใจ 

แต่ในขณะที่ประเทศอื่น ที่ความพร้อมทางการเงินอาจไม่เท่าประเทศไทย เช่น กลุ่มประเทศที่ยังด้อยพัฒนาหลายประเทศ ถ้าเริ่มต้นเหมือนประเทศไทยก็จะตกใจในเรื่องของภาระเหล่านี้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ จะทำให้การเริ่มต้นเป็นไปอย่างล่าช้า หรือการที่จะเป็นการสนับสนุนจะกลายเป็นการทำให้ประเทศนั้นหมดกำลังใจมากกว่า ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับพญ.มาร์กาเร็ต ชาน  ควรนำเสนอรูปแบบของไทยอย่างระมัดระวัง และนำเสนอผลว่าดำเนินการแล้ว สามารถช่วยให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี 

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 3 คือเรื่องระบบยาของไทย ซึ่งแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ได้ให้ความกังวลในเรื่องของความมั่นคงด้านยา เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยต้องพึ่งการนำเข้ายาทั่วๆ ไปถึงร้อยละ 75  ซึ่งได้อธิบายว่าเนื่องจากประเทศไทย ในระดับอุตสาหกรรมยายังไม่ได้มีการพัฒนาในระดับที่จะนำไปขายทั่วภูมิภาคได้ และยังเกิดปัญหาการจัดการในเชิงระบบของประเทศไทยเอง หากซื้อยาที่ผลิตในประเทศราคาอาจสูงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ต่างจากบางประเทศ เช่นประเทศอินเดียที่มีประชากรประมาณ 1,000 ล้านคน หากผลิตเองอาจคุ้มกว่าถูกกว่าการนำเข้า แต่ก็อาจมีความจำเป็นเนื่องจากเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ นำไปสู่ความมั่นคงด้านยาในที่สุด เป็นเรื่องที่เรากำลังจะแก้ไขปัญหา                          

ทั้งนี้ ยังได้พูดถึงความคืบหน้าโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เรามีเทคโนโลยี จะสามารถพัฒนาไปถึงในระดับที่จะทำขนาดใหญ่ได้หรือไม่ เทคโนโลยีที่จะใช้ผลิตจะใช้ชนิดผลิตจากเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้วหรือยัง ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกรับจะไปทบทวนผลการทดลอง เพราะหากยังเป็นขั้นวิจัยอยู่ รัฐบาลก็จะต้องตัดสินใจเรื่องของโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ว่าอาจต้องผลิตวัคซีนจากเชื้อตาย ซึ่งจะมีกำลังการผลิตต่ำอยู่ประมาณ 2 ล้านโด๊ส  ซึ่งอาจจะผลิตไม่ทันหากเกิดเหตุระบาดจริงๆ โดยทางองค์การอนามัยโลกจะกลับไปค้นคว้าและให้ข้อมูลประเทศไทยเพิ่มอีก เพื่อการตัดสินใจของรัฐบาลในทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนวัคซีนแบบที่ทำอยู่ก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะในแง่ความมั่นคงของวัคซีน เชื้อเป็นสามารถเพิ่มกำลังผลิตจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว

เรื่องที่ 4 รัฐบาลไทยมีนโยบายจะสนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านให้มีระบบประกันสุขภาพ โดยไทยจะสนับสนุนทางด้านเทคนิคมากกว่าจะเป็นตัวเข้าไปกระตุ้น เพราะอาจถูกมองในแง่ลบได้ว่าเราไปกระตุ้นเพราะประเทศเรามีปัญหาจากผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านมารักษาพยาบาลมาก จึงต้องการให้องค์กรนานาชาติเข้าไปกระตุ้นในรูปของการให้ความช่วยเหลือในเรื่องการรักษาพยาบาล และไทยจะเข้าไปร่วมกับองค์กรนานาชาติ พัฒนาโรงพยาบาลและระบบบริการสาธารณสุขให้ประเทศเพื่อนบ้านให้มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล พร้อมกับตั้งระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบพื้นฐานทดลองใช้ประโยชน์ อาจช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารักษาในไทย เกิดมาจากขาดหน่วยพยาบาลหน่วยบริการ

 ***********************************   14  มีนาคม 2556



   
   


View 13    15/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ