“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เชื่อมั่นแพทย์ทุกคนจะไม่หยุดงาน ละทิ้งผู้ป่วย เพราะมีจรรยาบรรณและอุดมการณ์ทำงาน ย้ำหลักการจ่ายค่าตอบแทนยังคงให้เหมาจ่ายในพื้นที่เฉพาะ เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่เกาะ ห่างไกล เช่นเดิม และเพิ่มการจ่ายค่าตอบแทนให้ตามภาระงานแต่ละวิชาชีพ
บ่ายวันนี้ (15 มีนาคม 2556) ที่หอประชุมอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีข่าวว่าจะมีแพทย์บางส่วนนัดหยุดงานจากการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ว่า คิดว่าน้องๆ มีความเข้าใจและจะไม่มีการหยุดงาน สิ่งที่พูดอาจเกิดจากอารมณ์ในขณะนั้น แต่ถึงเวลาจริงๆ แล้วคิดว่าจะไม่ทำเช่นนั้น เพราะแพทย์ทุกคนมีจรรยาบรรณ มีอุดมการณ์ และมีความเสียสละทำงานในชนบท จึงไม่ห่วงเรื่องนี้ โดยหลักการแล้วยังมีค่าตอบแทนแก่บุคลากรเช่นเดิมเพียงแต่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน โดยเงินจำนวนนี้มีที่มาชัดเจนจากภาระงานที่ทำ และในอนาคตอาจจัดสรรอยู่ในค่าเหมาจ่ายรายหัว ไม่ต้องขอตั้งงบประมาณเพิ่มทุกปี เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบการเงินของประเทศ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการจ่ายเงินค่าตอบแทน เมื่อปรับระบบแล้วแพทย์ทุกคนจะได้รับตามภาระงาน คนที่ทำงานมากก็จะได้เงินมากขึ้น และมีมาตรฐานงานที่ชัดเจน ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีบุคลากรอยากไปทำงาน หรือที่เรียกว่าพื้นที่เฉพาะ เช่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่เกาะ หรือพื้นที่ที่ห่างไกล จะยังคงมีค่าตอบแทนเหมาจ่ายอยู่ และถ้าบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่เหล่านี้มีภาระงานมากก็จะได้ค่าตอบแทนเพิ่มมากขึ้นอีก โดยต้องการให้ได้รับค่าตอบแทนตามภาระงานครบทุกคน ทุกสาขาวิชาชีพ และมีความเหลื่อมล้ำกันน้อยที่สุด ส่วนการคิดภาระงานของแต่ละวิชาชีพ จะแยกตามระดับของโรงพยาบาล แตกต่างกันไป ไม่นำมาคิดรวมกัน ภาระงานที่เกิดขึ้นจะมี 3 ส่วน คือคุณภาพบริการผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้คนมีสุขภาพดี และการบริหารจัดการงบประมาณภายในโรงพยาบาล เพื่อใช้ภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ
ส่วนหลักเกณฑ์ในการคิดมาตรฐานภาระงาน อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิด เพื่อนำไปใช้ได้ในทางปฏิบัติ เมื่อเห็นด้วยในหลักการตรงกันแล้ว ต่อไปจึงจะช่วยกันคิดหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถใช้ได้โดยเร็ว และเป็นเหตุเป็นผลในการบริหารงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งขณะนี้คิดเป็นร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมดประเทศ เป็นงบรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1.5 แสนล้านบาท และของกระทรวงสาธารณสุขอีก 91,000 ล้านบาท ซึ่งการทำงานจากนี้ไปจะต้องมีตัวชี้วัดระบบการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สำหรับจัดบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศให้มีคุณภาพสูงสุด
********************************** 15 มีนาคม 2556