รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศกระทรวงฯ สร้างระบบประกันสุขภาพ  ให้ต่างด้าว 4 กลุ่มที่อยู่ในประเทศไทย ทั้งประเภทใช้แรงงาน  ผู้ติดตามแรงงาน ต่างชาติที่ข้ามมารักษาที่โรงพยาบาลชายแดน และนักท่องเที่ยวที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ   พร้อมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ในเร็วๆนี้       

          นายแพทย์ประดิษฐ   สินธวณรงค์   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการในการจัดบริการสุขภาพแก่กลุ่มประชากรต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยตามมติของคณะรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพคนต่างด้าว โดยมีเป้าหมาย 4  กลุ่มใหญ่ได้แก่ 1.กลุ่มแรงงานสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา  2.กลุ่มครอบครัวที่ติดตามมาพร้อมกับผู้ใช้แรงงาน 3.ต่างด้าวที่ข้ามมารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดน   และ 4.ต่างด้าวที่เข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีประกันสุขภาพหรือยังไม่มีก็ได้ เพื่อให้ประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพ 100 เปอร์เซ็นต์  สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่าย ทั้งการรักษา การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และลดปัญหาเด็กไร้สัญชาติในประเทศด้วย ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

             นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า เรื่องที่เร่งดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็วขณะนี้มี 4 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.การพัฒนาศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพประชากรต่างด้าวเชื่อมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงแรงงาน  และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลของแรงงานคนนั้นๆ ได้ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสุขภาพ เป็นต้น  2.การจัดบริการสุขภาพแก่กลุ่มแรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้รอขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจะทำการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคด้วย  โดยการคุ้มครองสุขภาพจะมีผลตั้งแต่วันที่ทำประกันจนถึง 90 วันก่อนที่ระบบประกันสังคมจะเริ่มมีผลการคุ้มครอง และให้บริการกลุ่มที่อยู่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น ผู้ที่ทำงานในกิจการประมง เกษตรและปศุสัตว์ งานก่อสร้าง  ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการอื่นๆ ต้องได้รับการตรวจสุขภาพและซื้อหลักประกันสุขภาพอายุคุ้มครองเป็นเวลา 1 ปีด้วย

            3.การวางรูปแบบการทำหลักประกันสุขภาพให้โรงพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมให้ต่างด้าวที่เดินทางข้ามแดนมาใช้บริการรักษาพยาบาลซื้อหลักประกันสุขภาพทุกคน   และ4.หารูปแบบการประกันสุขภาพกลุ่มที่เข้าประเทศโดยถูกกฎหมาย เช่น ต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ  ได้มอบหมายให้นายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบให้สมบูรณ์แบบโดยเร็ว

         ด้านนายแพทย์ชาญวิทย์  ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าวซึ่งมีหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการและแนวทางการตรวจสุขภาพ และประกันสุขภาพประชากรต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2556 ดังนี้  1.กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเรียกเก็บค่าบริการตรวจสุขภาพ เช่น เอ็กซเรย์ปอด ตรวจเลือด 600 บาท และค่ารักษาพยาบาล 3 เดือนแรกที่กองทุนประกันสังคมยังไม่ครอบคลุม และค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค                                                                                        

              2.กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมและผู้ติดตามเรียกเก็บรายละ 1,900 บาท แบ่งเป็นค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท ค่าประกันสุขภาพ 1 ปีรายละ 1,300 บาท ซึ่งประกันสุขภาพทุกแบบจะคุ้มครองทันทีนับตั้งแต่วันที่ซื้อประกัน สำหรับต่างด้าวที่คลอดบุตรในประเทศไทย เด็กทารกที่เกิดมาจะต้องทำบัตรประกันสุขภาพและมีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวแต่ละคนด้วย  เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องและครบถ้วนตามเกณฑ์เช่นเดียวกับเด็กไทยเช่น การรับวัคซีนป้องกันโรคตามช่วงอายุ เป็นต้น  โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพต่างด้าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติขยายการตรวจสุขภาพเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 เป็นต้นมา 

              ทั้งนี้ สถานการณ์แรงงานต่างชาติ  ขณะนี้คาดว่าจะมีกลุ่มคนต่างด้าวพร้อมครอบครัวและบุตรอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ขึ้นทะเบียนใช้แรงงานในและนอกระบบประกันสังคมรวม 2-3 ล้านคน ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นแรงงานผู้หญิงประมาณ 1-1.6 ล้านคน ผลการตรวจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2554 พบต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา เป็นโรคติดต่อที่ต้องติดตามรักษาให้หายขาด เช่น มาลาเรีย วัณโรค ประมาณร้อยละ 1 และพบหญิงต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานตั้งครรภ์จำนวน 18,355 คน คิดเป็นร้อยละ 1.47-1.75 ของหญิงต่างด้าวทั้งหมด หากไม่มีระบบควบคุมใดๆ คาดว่าจะมีต่างด้าวตั้งครรภ์ปีละประมาณ 16,000-24,000 คน คลอดปีละประมาณ 10,000-20,000 คน และจะมีเด็กไร้สัญชาติสะสมในประเทศไทยประมาณ 4-5 แสนคน นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าว

*************************************  17  มีนาคม 2556

 



   
   


View 11    17/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ