“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยป่วยด้วย 5 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกือบ 15 ล้านคน พบทั้งคนในเมืองและชนบท เร่งพัฒนาระบบบริการ ทั้งการดูแลรักษา การป้องกันป่วยรายใหม่ และป่วยจากโรคแทรกซ้อน พร้อมย้ำเตือนผู้ที่เป็นเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ห้ามกินยาลูกกกลอนบรรเทาอาการเด็ดขาด เนื่องจากส่วนใหญ่จะผสมสารสเตียรอยด์ เสี่ยงเสียชีวิตเร็ว เพราะฤทธิ์ยาควบคุมอาการที่แพทย์จ่ายไร้ผล ร่างกายติดเชื้อง่าย
วันนี้(21 มีนาคม 2556) ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา กทม. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมสุขภาพเครือข่ายบริการสุขภาพใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก เพื่อพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมการป้องกันและควบคุมจำนวนการป่วยจากโรคไม่ติดต่อ และมอบรถเข็นผู้พิการพระราชทาน ในพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, องค์กรโจนี่ แอนด์ เฟรนด์ ยูเอสเอ (Joni and Friends USA ) และบริษัทไอ ซี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ให้แก่ผู้พิการ จำนวน 100 คน เพื่อให้สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายเร่งพัฒนาระบบสุขภาพ ตั้งเป้าภายใน 10 ปี คนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน เรื่องที่เป็นอุปสรรคจะต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังก็คือเรื่องโรคไม่ติดต่อ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาระดับโลก ผลการตรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปครั้งที่ 4 ในปี 2551-2552 พบคนไทยป่วยด้วยโรคดังกล่าวที่รุนแรงและสำคัญ 5 โรค คือป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน เบาหวาน 3.2 ล้านคน โรคหลอดเลือดหัวใจ 690,000 คน โรคหลอดเลือดสมอง 730,000 คน และโรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง 270,000 คน ทำให้ต้องเสียค่าใช้ในการรักษา เป็นจำนวนมาก เนื่องจากรักษาไม่หายขาด และโรคเหล่านี้หากรักษาหรือควบคุมอาการไม่ได้ จะเกิดโรคแทรกตามมาอย่างไม่จบสิ้น เช่นไตวาย เท้าเน่า เส้นเลือดในสมองแตก ทำให้เสียชีวิตหรือพิการมากขึ้น
ในปี 2556 กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดพิการ ลดตายและลดค่าใช้จ่าย โดยพัฒนาใน 4 ด้านคือ 1.จัดตั้งคลินิกโรคไม่ติดต่อในโรงพยาบาลทุกแห่ง และพัฒนาคุณภาพ เพื่อควบคุมอาการผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ 2.จัดระบบตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และตรวจภาวะแทรกซ้อน เพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่เหมาะสม 3.ลดคิวรอคอย โดยกระจายคลินิกบริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่คุมอาการได้ ให้ไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน 4.รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงของประชาชน 4 เรื่องใหญ่ (3 อ. 2 ร.) คือ 1.กระตุ้นให้ออกกำลังกายต่อเนื่อง 2.กินอาหารลดรสหวาน มัน เค็ม 3.ลดอารมย์ความเครียด และ 4.งดดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่
ด้านนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาของโรคไม่ติดต่อในแถบ 8 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในปี 2554 มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 5 โรค นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 140,000 ราย มากสุดคือโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาโรคเบาหวาน ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 โรคนี้พบได้ทั้งในเมืองและชนบท แนวโน้มพบในอายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่น่าห่วงโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม มักจะตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อยาลูกกลอนสมุนไพร ที่มีการลักลอบขายในลักษณะของรถเร่ หรือขายในลักษณะแอบอ้างตัวว่าเป็นหมอพื้นบ้าน โดยยาจำพวกนี้มักลักลอบใส่สารสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ และอ้างสรรพคุณเกินจริงว่าสามารถรักษาได้สารพัดโรคทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคปวดเมื่อย ทำให้ประชาชนที่เป็นโรคเรื้อรังหรือมีอาการปวดเรื้อรัง รักษาไม่หาย หลงเชื่อง่ายๆ ซึ่งตามวิถีชนบททั่วไป หากใครมีอาการป่วยเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน เมื่อไปกินยาตัวหนึ่งตัวใด แล้วอาการดีขึ้น จะมีความเชื่อ บอกต่อและกินตามกัน เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องอันตรายมาก น่าห่วงมาก โดยยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ผสม อ้างว่า เป็นยาครอบจักรวาล รักษาอาการได้ทุกโรค เมื่อกินระยะแรกอาการจะหายเร็ว ที่จริงมีอันตรายสูง หากกินต่อเนื่องจะมีอันตราย อาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานได้เช่นกัน
นายแพทย์ธวัชชัย กล่าวต่อว่า ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงแล้ว ขอย้ำว่าห้ามกินยาชนิดลูกกลอนดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการป่วยเลวลงอย่างมาก เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต โดยผลของ สเตียรอยด์จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ยาที่แพทย์ให้ไป จะออกฤทธิ์ลดน้ำตาลได้น้อย และใช้ไม่ได้ผล ในที่สุดจะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมาเร็วขึ้น เช่นไตวาย โรคหัวใจ ส่วนในผู้ที่ป่วยความดันโลหิตสูง หากกินยาชนิดนี้เข้าไป จะทำให้ปัสสาวะลดลง เกิดอาการบวมฉุตามอวัยวะต่างๆ เช่น ที่หน้า แขน ขา ใบหน้าจะบวมเป็นรูปวงพระจันทร์ มีโหนกขึ้นที่หลัง ผิวหนังทั้งตัวบางลง เมื่อกินไปนานๆ นอกจากจะทำให้มีแผลในกระเพาะอาหาร ยังมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดสูง เนื่องจากสเตียรอยด์จะกดภูมิต้านโรคในร่างกายให้น้อยลงไปอีก เกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายเช่น หัวใจวาย ไตวาย หากกินต่อเนื่องเป็นเวลานานและหยุดยากระทันหัน จะทำให้เกิดภาวะช็อกได้ เนื่องจากต่อมหมวกไตไม่ทำงาน ซึ่งปัญหานี้เคยมีรายงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์แล้ว ดังนั้นจึงขอย้ำเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการโฆษณา หากพบมีการจำหน่ายยาลูกกลอนสมุนไพรในหมู่บ้าน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรือแจ้ง อสม.
****************************************** 21 มีนาคม 2556