วันนี้(21 มีนาคม 2556) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังปาฐกถาพิเศษ เรื่องผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ในการประชุมวิชาการนานาชาติราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ว่า การเปิดประชาคมอาเซียนทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบหลายด้าน ซึ่งด้านสาธารณสุขก็เช่นกัน เนื่องจากมีประชาชนจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ส่งผลให้มีการใช้บริการด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งแต่เดิมก็มีประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาอยู่แล้ว แต่ก็จะมีการเพิ่มขึ้นในกลุ่มของคนที่มีฐานะและมีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพ รวมทั้งประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับประชาชนกลุ่มนี้ด้วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวนิยมไปใช้บริการ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน คาดว่าจะข้ามมารับการรักษาในโรงพยาบาลตามแนวชายแดนไทยเพิ่มมากขึ้น ในระยะสั้นจะมีการเก็บค่าบริการ ส่วนระยะยาวจะร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพระหว่างประเทศ สนับสนุนให้เกิดการสร้างหลักประกันสุขภาพในแต่ละประเทศ ส่วนกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานและครอบครัว จะขายประกันสุขภาพเป็นรายปี
ส่วนเรื่องของแพทย์และพยาบาลที่อาจจะมีการออกไปทำงานนอกประเทศนั้น รัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะให้ออกไปทำงานนอกประเทศ เพราะตลาดของประเทศยังไม่เพียงพอ และประเทศฟิลิปปินส์ยังเป็นคู่แข่งที่สำคัญในการผลิตแพทย์ พยาบาล สำหรับแพทย์ที่จะเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทยนั้น จะต้องผ่านการสอบใบประกอบโรคศิลปะของประเทศไทยก่อน จึงจะสามารถเข้ามาทำการรักษาได้ พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐานเดียวกับชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ การที่จะนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แพทย์มีตัวเลือกในการใช้ยามากขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เฝ้าระวังเรื่องคุณภาพมาตรฐานของยานำเข้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นายแพทย์ประดิษฐ กล่าว
มีนาคา5/8 ................................. 21 มีนาคม 2556
View 13
21/03/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ