ล่าสุดเจ็บสาหัส 2 ราย ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลในเชียงใหม่ พร้อมสั่งตั้งศูนย์บัญชาการ จัดการภัยพิบัติด้านสุขภาพ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน
วันนี้(23 มีนาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเหตุการณ์ไฟไหม้ศูนย์อพยพบ้านแม่สุรินทร์ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเหตุเกิดเมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 22 มีนาคม 2556 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ พร้อมรถพยาบาลฉุกเฉิน อาหาร เครื่องมือแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ จาก รพ.ปาย รพ.ศรีสังวาลย์ รพ.ขุนยวม รพ.แม่สะเรียง รพ.แม่ลาน้อย มูลนิธิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน และรถจากหน่วยบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยทหารรวมกว่า 14 ทีม เข้าไปในที่เกิดเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับท้องถิ่น อย่างเต็มที่
ล่าสุดวันนี้ ( 23 มีนาคม 2556 )ณ เวลา 11.30 น. ได้รับรายงานมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 32 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 100 กว่าราย และมีบาดเจ็บต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 6 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดเชียงใหม่ 2 ราย มีอาการสาหัส ได้แก่ 1.นายปาทู อายุ 55 ปี ถูกไฟลวกประมาณร้อยละ 80 ของร่างกาย 2.เด็กชายชาเหน่ทู อายุ 13 ปี ถูกไฟลวก ร้อยละ 90 ของร่างกาย แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจ อยู่ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน 1 ราย ชื่อนายทูเง อายุ 22 ปี ถูกไฟลวกประมาณร้อยละ 18 ของร่างกาย และอยู่ที่โรงพยาบาลขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน 3 ราย ถูกไฟลวกร่างกายประมาณร้อยละ 10 ได้มอบหมายให้ นายแพทย์วิศิษฐ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการสุขภาพที่1 อำนวยการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่อย่างเต็มที่
ทางด้านนายแพทย์วิศิษฐ์ ตั้งนภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการสุขภาพที่ 1 ดูแลจังหวัดแม่อ่องสอน กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดตั้งศูนย์บัญชาการจัดการภัยพิบัติด้านสุขภาพของจังหวัด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยมีนายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการ ร่วมกับศูนย์บัญชาการจัดการภัยพิบัติด้านสุขภาพของอำเภอขุนยวม โดยมีนายแพทย์บุญเลิศ สุริยบรรเจิด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขุนยวมเป็นประธาน เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังและประเมินสภาพปัญหาที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะจากควันไฟที่เกิดจากเพลิงไหม้ศูนย์พักพิง เพิ่มเติมจากปัญหาหมอกควันที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
รวมทั้งได้สั่งการให้พื้นที่ข้างเคียง เพิ่มการเฝ้าระวังผลกระทบจากควันไฟด้วย ซึ่งฝุ่นละอองจากควันไฟ ส่วนใหญ่จะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ โดยได้รับรายงานว่าพื้นที่ที่ประสบควันไฟ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลต่างๆเพิ่มขึ้นจากปกติ ร้อยละ 5-10 แต่ยังไม่พบรายใดมีอาการรุนแรง ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ดำเนินการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและแจกหน้ากากอนามัยป้องกันการสูดฝุ่นละอองเข้าปอด ได้แก่ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพอง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงเป็นต้น
************************************ 23 มีนาคม 2556
View 13
23/03/2556
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ