“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ชนิดเอช 7 เอ็น 9 หลังพบมีผู้ติดเชื้อในจีน 3 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย โดยให้เตรียมพร้อมระบบการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว และการเฝ้าระวังผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรคปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ เผยจนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติใดๆ รวมทั้งยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันกว่า 5 ปี โดยมอบให้สำนักระบาดวิทยาประสานงานกับหน่วยงานภายในและนอกประเทศใกล้ชิด
จากกรณีมีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและสุขภาพแห่งชาติของประเทศจีน แถลงเมื่อวานนี้ (31 มีนาคม 2556) ว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกชนิด เอช 7 เอ็น 9 จำนวน 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นชายอายุ 87 ปี อยู่ที่มณฑลเซี่ยงไฮ้ ป่วยเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เสียชีวิตเมื่อ 4 มีนาคม 2556 รายที่ 2 เป็นชายวัย 27 ปี อยู่ที่มณฑลเซี่ยงไฮ้ ป่วย 27 กุมภาพันธ์ 2556 เสียชีวิต 10 มีนาคม 2556 และรายที่ 3 เป็นหญิงวัย 35 ปี อยู่ที่มณฑลอันฮุย ป่วยเมื่อ 9 มีนาคม 2556 อาการหนัก มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกก่อนป่วย โดยอาการผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย เริ่มจากมีไข้สูง ไอและปอดอักเสบรุนแรง หายใจลำบาก
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (1 เมษายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การพบผู้ป่วยที่จีน 3 ราย เป็นการพบการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดนกชนิดเอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ครั้งแรกที่ติดมาจากสัตว์สู่คน ซึ่งขณะนี้ ทางการจีนได้ดำเนินการเฝ้าระวังผู้สัมผัสกับผู้ป่วยใน 2 เมืองนี้ จำนวน 88 ราย และอยู่ระหว่างหาสาเหตุการติดเชื้อ ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบเชื้อนี้มาก่อน เคยพบเฉพาะสายพันธุ์เอช 5 เอ็น1 (H5N1) ซึ่งเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงที่สุด ในช่วงปี 2547 -2549 หลังจากนั้นไทยได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคมาอย่างต่อเนื่อง และไม่มีรายงานติดต่อกันจนถึงขณะนี้รวมกว่า 5 ปี
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้เตรียมพร้อมระบบการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 โดยให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตรียมพร้อมห้องตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ให้สำนักระบาดวิทยาและโรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและมีอาการรุนแรง ได้แก่ โรคปอดบวม ไข้หวัดใหญ่ทุกรายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตรวจจับสัญญาณโรคได้ทันท่วงที และเตรียมความพร้อมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วตลอด 24 ชั่วโมง ผลการเฝ้าระวังยังไม่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มผิดปกติแต่อย่างใด ได้ให้สำนักระบาดวิทยาประสานงานกับหน่วยงานภายในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด เช่นกรมปศุสัตว์ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นต้น
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการเฝ้าระวังไข้หวัดนกเป็นการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของ 3 กระทรวง คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังในคน กระทรวงเกษตรฯ คือกรมปศุสัตว์ เฝ้าระวังในสัตว์ และกระทรวงทรัพยากรฯ เฝ้าระวังในสัตว์ปีกธรรมชาติ โดยระบบเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุขถือว่าเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ และได้ผลดี มี 2 ส่วน ประกอบด้วย หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว หรือเอสอาร์อาร์ที มีครอบคลุมทุกอำเภอ หากพบผู้ป่วยผิดปกติ เช่นพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวมเป็นกลุ่มก้อนก็จะสามารถตรวจจับความผิดปกติได้ไว ที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติ และส่วนที่ 2 การเฝ้าระวังในระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งทำงานร่วมกับปศุสัตว์และชุมชนด้วย มีการสื่อสารการป้องกัน ทั้งประชาชนทั่วไปและประชาชนที่มีความเสี่ยง โดยมีการรายงานอย่างเป็นระบบจากชุมชน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการอยู่ในระดับการเฝ้าระวังไข้หวัดนกชนิดเอช 7 เอ็น 9 ทั้งตามแนวชายแดนและพื้นที่ในประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้ทุกประเทศจับตาเฝ้าระวังโรคนี้แล้ว
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสกับสัตว์ปีก ไม่นำสัตว์ปีกที่มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือซากสัตว์ปีกมาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด เนื่องจากคนอาจติดเชื้อหากสัตว์ปีกที่เชือด ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก และขอให้ยึดหลัก กินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของ หรือภายหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. หรือผู้นำชุมชน เพื่อที่จะนำไปตรวจพิสูจน์เชื้อทางห้องปฏิบัติการต่อไป
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ทั่วโลก ในปี 2556 นี้องค์การอนามัยโลกรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อใน 3 ประเทศคือกัมพูชา จีน และอียิปต์ มีผู้ป่วยรวม 10 ราย เสียชีวิต 7 ราย และตั้งแต่ปี 2546 -2556 มีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกรวม 620 ราย เสียชีวิต 367 ราย ใน 15 ประเทศ
************************************* 1 เมษายน 2556